ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมี.ค.ในวันพุธ (6 เม.ย.) โดยระบุว่า กรรมการเฟดสนับสนุนให้ปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟดลงเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยจะเริ่มในการประชุมเดือนพ.ค.นี้
รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการเฟดหลายคนสนับสนุนให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% ในการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็มีกรรมการเฟดอีกหลายคนที่มองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงไม่แน่นอน จึงเห็นว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันดังกล่าว
อย่างไรก็ดี รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการเฟดหลายคนมองว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% จำนวนหนึ่งครั้งหรือสองครั้งในการประชุมวันข้างหน้า หากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ในขณะที่เฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ กรรมการเฟดก็เห็นพ้องต้องกันว่า การปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟดลงนั้น จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนจุดยืนด้านนโยบายการเงินของเฟด ทั้งนี้ กรรมการเฟดทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นและภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เฟดเห็นสมควรที่จะปรับลดขนาดของงบดุลในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งจะเป็นการปรับลดการถือครองหลักทรัพย์ในเวลาที่รวดเร็วกว่าที่เฟดเคยดำเนินการในช่วงปี 2560-2562” เฟดระบุในรายงานประชุม ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า กระบวนการปรับลดขนาดงบดุลจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนพ.ค.
“กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า เป็นการสมควรที่จะปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลลงเดือนละ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และปรับลดการถือครองตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ลงเดือนละ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยการปรับลดงบดุลจะดำเนินการเป็นระยะ ๆ เป็นเวลา 3 เดือนหรืออาจจะนานกว่านั้น หากสภาวะตลาดเอื้ออำนวย” รายงานการประชุมระบุ
การเปิดเผยรายงานการประชุมมีขึ้นหลังจากที่นางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แสดงความเห็นเมื่อวันอังคาร (5 เม.ย.) ว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นระบบ และเร่งปรับลดขนาดงบดุลจากระดับสูงเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนหน้า พร้อมกับกล่าวว่า ขณะนี้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงเกินไป และการชะลอเงินเฟ้อถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างมาก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 65)
Tags: ดอกเบี้ย, ธนาคารกลางสหรัฐ, เฟด