ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมิ.ย.ในช่วงเย็นวันพุธตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาไทย โดยรายงานระบุว่า กรรมการเฟดได้หารือกันเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างไรก็ดี กรรมการเฟดมีความเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นที่ว่า ควรจะเริ่มปรับลดวงเงิน QE เมื่อใด เนื่องจากมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ
รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการเฟดได้หารือกันเรื่องการปรับลดวงเงิน QE โดยมีกรรมการเฟดส่วนหนึ่งมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวรวดเร็วขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ตาม กรรมการเฟดเล็งเห็นความสำคัญของการอดทนรอคอย ก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการปรับลดวงเงิน QE
กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของเฟดที่ต้องการเห็นเศรษฐกิจ “ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเริ่มกลับมาดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงิน นอกจากนี้ กรรมการเฟดยังเน้นย้ำว่า แม้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่เชื่อว่าเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น
“กรรมการเฟดหลายคนคาดการณ์ว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเริ่มปรับลดวงเงิน QE นั้น มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเฟดในเวลาที่รวดเร็วกว่าที่คิดไว้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจที่เฟดได้รับ แต่ก็มีกรรมการเฟดบางคนแย้งว่า ข้อมูลที่เฟดได้รับนั้น มีการส่งสัญญาณที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโนัมเศรษฐกิจที่แท้จริง และยังกล่าวด้วยว่า ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เฟดจะมีข้อมูลที่สามารถประเมินสถานการณ์ตลาดแรงงานและเงินเฟ้อได้ดีขึ้น” รายงานประชุมเฟดระบุ
ในการประชุมซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 15-16 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% พร้อมประกาศว่าจะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน
นอกจากนี้ เฟดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ โดยคาดว่าจะมีการขยายตัว 7% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมี.ค.ที่ระดับ 6.5% และคงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวที่ 3.3% ในปี 2565 ขณะเดียวกันเฟดได้คงคาดการณ์อัตราว่างงานที่ระดับ 4.5% ในปีนี้ และคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 3.8% และ 3.5% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 64)
Tags: Fed, ธนาคารกลางสหรัฐ, พันธบัตร, อัตราดอกเบี้ย, เฟด, เศรษฐกิจสหรัฐ