นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า วันนี้จะประกาศผลการพิจารณาจัดสรรวัคซีนตัวเลือก ซิโนฟาร์ม จากผู้ที่ยื่นเรื่องเข้ามาเพิ่มเติมในช่วงวันที่ 14-18 มิ.ย.64 โดยจัดลำดับก่อนหลังด้วยนโยบายเดิม รวมทั้งบริษัทเอกชนประมาณ 80-90 แห่งที่ร่วมกันขอจัดสรรในนามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรายที่แยกยื่นขอมาเองไม่ทัน ซึ่ง ส.อ.ท.อยู่ระหว่างประสานงานกับฝ่ายไอทีของราชวิทยาลัยฯ เพื่อให้แต่ละบริษัทเข้ามาทำความตกลงกับราชวิทยาลัยฯ เอง
ทั้งนี้ ยกเว้นการจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งอยู่ระหว่างประสานเรื่องการจัดกลุ่มลำดับความสำคัญ และจะทยอยจัดสรรให้ ไม่ใช่การส่งมอบทั้งหมดในครั้งเดียว
ขณะเดียวกันราชวิทยาลัยฯ ได้กำหนดกลุ่มโอกาสน้อยที่จะได้รับวัคซีนที่กำหนดให้ทุกองค์กรบริจาค 10% แล้ว มี 5 กลุ่ม คือ ผู้พิการ, ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง/บ้าน, พระ/นักบวช, ชุมชนแออัด/หาบเร่แผงลอย/ร้านอาหาร/ร้านค้าริมถนน และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบนัดหมายวัคซีนหลัก หลังจากรู้จำนวนแต่ละกลุ่มชัดเจนขึ้นแล้วทางราชวิทยาลัยฯ จะหาสถานพยาบาลต่างๆ ที่มีใจอาสาช่วยดำเนินการฉีดให้กับคนกลุ่มต่างๆ นี้ ซึ่งต้องร่วมกันทำกุศลโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ กับคนกลุ่มนี้ในทุกจังหวัด
คณะกรรมการจัดสรรฯ จะจัดสรรให้ทุกๆ องค์กรต่อไปเมื่อได้ทราบกำหนดเวลาและจำนวนโดสวัคซีนที่จะมาในเดือน ก.ค.และ ส.ค.64 คาดว่าน่าจะจัดสรรให้ได้ครบทุกบริษัท/องค์กรภายในเดือน ส.ค.เป็นอย่างช้า เว้นแต่ อปท.ที่อาจจะไม่ได้ทั้งหมดตามที่ขอมาเพราะทางราชวิทยาลัยฯ ต้องขอดูกลุ่มที่จัดลำดับความสำคัญมาก่อน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับการจัดสรรวัคซีนหลักของประเทศ
ส่วนการจัดสรรให้กับบุคคลทั่วไปนั้นต้องขอเวลา 2-3 สัปดาห์หลังเริ่มการฉีดให้กับกลุ่มองค์กร/นิติบุคคลแล้ว เพื่อดูระบบและมาตรฐานของโรงพยาบาลต่างๆ ที่จะรับคนทั่วไปธรรมดาที่จะเดินเข้าไปขอรับวัคซีนโดยจ่ายเงินเอง
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามระบบและวิธีการเข้ามาลงทะเบียน โอนเงิน และลงนามทำความตกลงร่วมกันยังเกิดความไม่สะดวก ซึ่งได้ปรับแก้ไปได้ระดับหนึ่ง แต่ยังมีปัญหาหลักๆ ที่พบ ได้แก่ 1.อีเมล์ผิด 2.อีเมล์เด้งกลับหรือไปอยู่ใน junk mail 3.ผู้บริหารสูงสุดที่ต้องลงนามไม่ได้เข้าไปทำเอง คนประสานใช้ Username password ของผู้ประสาน ซึ่งใช้ทำขั้นตอนนี้ไม่ได้ 4.ราชวิทยาลัยฯ ตรวจสอบการโอนเงินช้าซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น บริษัทโอนมามากกว่าหนึ่งยอด โอนเวลาค่ำแต่เงินเข้าบัญชีเช้าอีกวัน ซึ่งต้องค่อยๆ ตรวจ หรือโอนใช้เช็ค วันเวลาที่จ่ายกับที่เงินเข้าคนละวันตรวจสอบใช้เวลามาก ทั้งหมดนี้ฝ่ายการเงินราชวิทยาลัยฯ ได้ปรับเปลี่ยนเพื่อให้การตรวจสอบเร็วขึ้นในโอกาสต่อไป
เลขาธิการราชวิทยาลัย ย้ำว่า นอกจากนั้นยังมีปัญหาที่ทำให้หลังบ้านทำงานหนักมากคือ การขอเปลี่ยนจำนวน ซึ่งไม่สามารถให้เปลี่ยนได้ เว้นแต่เห็นว่าลงจำนวนผิดโดยไม่ตั้งใจ การจะขอเพิ่มหรือลดจำนวนขอจัดสรร ขณะนี้ทำไม่ได้ และกรุณาอย่าขอมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 64)
Tags: COVID-19, Sinopharm, ซิโนฟาร์ม, นิธิ มหานนท์, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, วัคซีนทางเลือก, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, โควิด-19