รอสคอสมอส (Roscosmos) ซึ่งเป็นองค์การอวกาศของรัสเซียเปิดเผยว่า รัสเซียส่งจรวดโซยุซ (Soyuz) ขึ้นสู่อวกาศในช่วงเช้าวันนี้ (5 พ.ย.) โดยจรวดดังกล่าวบรรทุกดาวเทียมสองดวง ซึ่งออกแบบมาเพื่อสังเกตการณ์สภาพอากาศในอวกาศรอบโลก และดาวเทียมดวงเล็ก ๆ อีก 53 ดวง ซึ่งรวมถึงดาวเทียม 2 ดวงจากอิหร่านด้วย
รอสคอสมอสระบุว่า จรวดอวกาศโซยุซ-2.1 ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าจากฐานปล่อยจรวดวอสโตชินี คอสโมโดรม (Vostochny Cosmodrome) พร้อมกับดาวเทียม Ionosfera-M จำนวน 2 ดวงที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบอวกาศสำหรับตรวจสอบชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ (Ionosphere) ของโลก
เว็บไซต์ของนาซา (NASA) ระบุว่า ชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ ซึ่งเป็นส่วนที่ชั้นบรรยากาศโลกสัมผัสกับอวกาศ มีความสูงจากพื้นโลกราว 50-400 ไมล์ (80-644 กิโลเมตร)
สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์รายงานว่า ดาวเทียม Ionosfera-M มีน้ำหนัก 430 กิโลกรัม (948 ปอนด์) และมีวงโคจรการทำงานที่ระดับความสูง 820 กิโลเมตร (510 ไมล์)
รอสคอสมอสระบุว่า ระบบดังกล่าวจะประกอบไปด้วยดาวเทียม Ionosfera-M จำนวน 4 ดวง โดยอีก 2 ดวงมีกำหนดการจะปล่อยขึ้นสู่อวกาศในปี 2568
ทั้งนี้ ในบรรดาดาวเทียมขนาดเล็ก 53 ดวงนั้นเป็นดาวเทียมของอิหร่าน 2 ดวงซึ่งได้แก่ Kowsar ดาวเทียมถ่ายภาพความละเอียดสูง และ Hodhod ดาวเทียมสื่อสารขนาดเล็ก นอกจากนี้ ยังมี Druzhba ATURK ซึ่งเป็นดาวเทียมเพื่อการศึกษาของรัสเซีย-จีนดวงแรกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ย. 67)
Tags: จรวดโซยุซ, ดาวเทียม, รัสเซีย