รัฐเตรียมแผนรับมือภัยแล้ง-น้ำท่วม เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพแจ้งเตือนภัย

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2568 ว่า วันนี้เป็นการประชุมถึงมาตรการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ในการรับมือกับปัญหาภัยแล้ง รวมถึงมาตรการรับมือในช่วงฤดูฝนที่กำลังใกล้เข้ามา เนื่องจากระยะเวลาเหลืออีกเพียง 2 เดือนก็จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในเดือน พ.ค.แล้ว

โดยที่ประชุมมอบหมายให้กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง พร้อมส่งเสริมการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และเร่งสำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ท่วมและแล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน และแนวทางบรรเทาการแก้ไขให้เกษตรกร รวมถึงหาเครื่องมือ เช่น เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและจะมีการติดตามในการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที

สำหรับการเตรียมรับมือฤดูฝน ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2568 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อ และจะมีการติดตามการรายงานให้คณะกรรมการได้รับทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเตือนภัยให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบผันน้ำเพิ่มเติม 7 ลุ่มน้ำ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำน้ำเพิ่มเติมไปทำแผนในการบริหารจัดการน้ำต่อไป ซึ่งรัฐบาลได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย โดยวันนี้ได้มีการพูดถึงการถอดบทเรียนในปีที่ผ่านมา ซึ่งก็จะมีการปิดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็ง เพื่อบรรเทาความเสียหายของประชาชนต่อไป

นายประเสริฐ กล่าวว่า ปีนี้เป็นการทำงานเชิงรุกด้วยการเตือนภัยต่อเนื่อง ซึ่งในปีที่ผ่านมาก็มีการเตือนภัยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็ได้มีการเตือนภัย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีว่าสามารถแจ้งประชาชนและเกษตรกรให้รับมือได้อย่างทันท่วงที

สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งคือภาคอีสาน เช่น จังหวัดนครราชสีมาเพราะปริมาณน้ำลดลง ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าในปีนี้จะมีจุดเสี่ยง 37 จังหวัด ส่วนภาวะน้ำท่วมในปีนี้คาดการณ์ว่าฝนจะมาเร็ว ซึ่งจุดใดที่มีความเสี่ยงก็จะต้องรีบตั้งศูนย์ส่วนหน้าเพื่อบริหารจัดการ และที่ประชุมเห็นชอบปรับปรุงแผนเสนองบประมาณในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งยังไม่ได้กำหนดตัวเลข ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับสำนักงบประมาณ คาดว่าจะใช้งบในการบริหารจัดการประมาณ 2-3 พันล้านบาท ซึ่งต้องคำนึงถึงความจำเป็นในการขอใช้งบกลางมีการประเมินเป็นครั้ง ๆ ไปตามความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 68)

Tags: , , ,