นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม กล่าวว่า การดำเนินการแก้ไขฝุ่น PM 2.5 จะแบ่งได้ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย มาตรการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตรวจสภาพรถของหน่วยงานทุกเดือนเป็นประจำ มาตรการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน มาตรการแก้ปัญหารถติด และ มาตรการลดฝุ่น เป็นต้น
โดยต่อจากนี้จะดำเนินการตามแผนระยะกลาง โดยจะแบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่
- ส่งเสริมขนส่งสาธารณะ เช่น เร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าตามแผนแม่บท จัดทำตั๋วร่วม และ เพิ่ม Park&Ride เป็นต้น
- เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นพลังงานสะอาด เช่น รถโดยสารสาธารณะ NGV-EV รถแท็กซี่และรถสามล้อเครื่อง EV เรือโดยสารสาธารณะEV สนับสนุนการเลี่ยนรถในหน่วยงานราชการเป็น EV-NGV ตรวจสอบรถของหน่วยงานที่อยู่ในสภาพเก่าที่ใช้งานไม่ได้ให้ปรับเปลี่ยนรถ EV/NGV
- มาตรการด้านภาษี ได้แก่ สร้างความเข้าใจ Congestion Charge และ สร้างความเข้าใจ ภาษีมลพิษ รวมถึงปรับภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
- จำกัดการใช้รถยนต์เก่า โดยการ สร้างความเข้าใจ ภาษีรถเก่า
- แนวความคิดในการบูรณาการสวัสดิการกับนโยบาย ประกอบด้วย จัดรถ Shutter Bus (รถที่ใช้พลังงานสะอาด) รับ-ส่ง ระหว่างหน่วยงานราชการกับระบบขนส่งสาธารณะ MRT/BTS รวมถึง บัตรรถโดยสารสาธารณะรายเดือนราคาประหยัด และต้องเร่งติดตัง EV Charging Station ในหน่วยงานราชการ
ด้านแผนระยะยาว จะมีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่
- บังคับใช้มาตรการทางภาษีและการจัดการความต้องการในการเดินทาง ได้แก่ ระบบ Congestion Charge, ภาษีมลพิษ , ภาษีรถเก่า และ มาตรการ Travel Demand Management
- ห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่ ได้แก่ เปลี่ยนท่าเรือกรุงเทพจากบริการสินค้าคอนเทนเนอร์เป็นท่าเรือสำหรับการท่องเที่ยวและผู้โดยสารรวมถึง Port City
- จำกัดการใช้เครื่องดีเซล โดยห้ามใช้เครื่องยนต์ดีเซลใน กทม.
- เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นพลังงานสะอาด จากกาเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะเป็น EV ทั้งหมด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ม.ค. 68)
Tags: PM2.5, ฝุ่น PM2.5, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ