รัฐบาล จ่อชงร่างกม.สถานบันเทิงครบวงจร วาระเร่งด่วนเข้าสภาฯ ให้ทันสมัยประชุมนี้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิง พ.ศ…. ตามที่กระทรวงการคลังได้ยกร่าง โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปแล้ว ในระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-14 มี.ค.68

สำหรับขั้นตอนจากนี้ จะนำเสนอเป็นวาระเร่งด่วนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ก่อน และตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนที่จะปิดสมัยประชุมสภาฯ ในวันที่ 11 เม.ย.68 ซึ่งมีเวลาเหลืออีกเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้นจากนั้นถึงจะเป็นการพิจารณาของสภาฯ ในวาระ 2-3 หลังจากร่างกฎหมายได้ผ่านความเห็นในชั้นกรรมาธิการเป็นที่เรียบร้อย

“จากนี้ จะเป็นขั้นตอนของสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา เราจะส่งเข้าไปให้พิจารณาใน 3 วาระตามปกติ เชื่อว่าความคิดเห็นของสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา จะเป็นอย่างไร มีการแก้ไขอย่างไร ก็คงเป็นสิทธิในการแก้ไขที่จะเป็นบวก และเป็นประโยชน์กับการที่เราจะมีกฎหมายฉบับนี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต…เราอยากผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เข้าสภาแล้วไปคาราคาซัง ถึงเวลาหมดสมัยรัฐบาล ก็ยังพิจารณากันไม่เสร็จ สุดท้ายความหวังที่จะสร้างจุดเปลี่ยนนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง” รมช.คลัง ระบุ

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อประเทศ เม็ดเงินที่จะได้รับจากการลงทุนต่อจุด ไม่ต่ำกว่าระดับแสนล้านบาท รวมถึงเม็ดเงินที่รัฐจะได้รับในรูปแบบของภาษี ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เม็ดเงินที่ประชาชนจะได้รับจากผลทางเศรษฐกิจ เช่น การจ้างงาน กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ทั้งโรงแรม การท่องเที่ยว และที่สำคัญ คือไม่ใช่แค่เรื่องของกาสิโน แต่เป็นเรื่องของการสร้างสถานบันเทิงครบวงจร เป็น Manmade Tourist Destination ที่มีขนาดใหญ่ และเป็นโมเดลธุรกิจที่ต่างประเทศให้การยอมรับ และบางประเทศเช่น ญี่ปุ่น ดูไบ กำลังเริ่มทำอยู่

“เรามองภาพประเทศไทยในอนาคต วาดฝันได้เลยว่าจะมีสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกเพิ่มมากขึ้น ทั้งร้านอาหารระดับโลก สวนสนุกขนาดใหญ่ระดับเดียวกับดิสนีย์แลนด์ ยูนิเวอร์เซิล เราจะเห็นสนามกีฬา อินดอร์สเตเดียมขนาดใหญ่…การลงทุนขนาดใหญ่ ที่ให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุนในรูปแบบของ Entertainment Complex เราจะมีจุดดึงดูดใหม่ที่จะสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้ง MISE ทั้ง OTOP ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งจะสร้างเม็ดเงินให้กับประชาชน นี่คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าการลงทุนให้กับประเทศ เดินหน้าธุรกิจท่องเที่ยวที่เดิมเคยพึ่งพาแต่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทางประเพณีวัฒนธรรมมาโดยตลอด วันนี้เราอยากสร้างจุดเปลี่ยน ดึงการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้ประเทศไทย ร่าง พ.ร.บ.Entertainment Complex จึงได้ผ่านความเห็นจาก ครม.” นายจุลพันธ์ ระบุ

รมช.คลัง กล่าวว่า กรณีเงื่อนไขการคัดกรองผู้ที่จะเข้าไปใช้บริการในกาสิโน ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกากำหนดให้ต้องมีเงินฝากในบัญชีธนาคารอย่างน้อย 50 ล้านบาทนั้น ประเด็นนี้ยังมีข้อถกเถียงกันกว้างขวาง เพราะอาจขัดกับวัตถุประสงค์ของการมีกาสิโนอยู่พอสมควร เนื่องจากรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาการพนันนอกระบบที่ผิดกฎหมาย หากกำหนดจำนวนเงินในบัญชีไว้สูงมากถึง 50 ล้านบาท จะยิ่งทำให้เป็นการผลักคนส่วนใหญ่อีกกว่า 60 ล้านคน กลับไปสู่การพนันที่ผิดกฎหมาย เพราะปัจจุบันมีข้อมูลว่าคนไทยที่มีเงินในบัญชีเกิน 50 ล้านบาท มีเพียงหมื่นกว่าคนเท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้คงต้องไปถกกันในชั้นกรรมาธิการต่อไป

“เรามองข้อเท็จจริงว่า คนไทยยังมีการไปเล่นพนันที่ประเทศเพื่อนบ้าน ในบ่อนที่ผิดกฎหมาย แม้เราจะกวดขันจับกุมอย่างเข้มงวด แต่ต้องยอมรับว่ายังมีอยู่ กลไกนี้จะเป็นการดึงเขากลับมาในระบบ โดยที่เราสามารถติดตาม กำกับดูแลประชาชนในกลุ่มนี้ได้ต่อไป ไม่ได้หมายความว่าเรามี หรือไม่มี Entertainment Complex แล้วการพนันผิดกฎหมายจะไม่มีเลย เราจึงต้องสร้างกลไกที่จะดึงเขากลับมา ส่วนการเยียวยา มีในรูปของกฎหมายอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ในรูปแบบของกองทุน เพราะใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ระบุว่าไม่สามารถตั้งกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ซ้ำซ้อนกัน นี่คงเป็นอีกประเด็นที่สภาฯ ต้องไปคุยกันว่าจะให้ผ่านด่านนี้ได้อย่างไร” นายจุลพันธ์ ระบุ

รมช.คลัง กล่าวว่า หากในอนาคตร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ก็จะต้องมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ขึ้นตามกฎหมาย โดยมีคณะกรรมการ 2 ส่วนประกอบด้วย คณะกรรมการฝ่ายนโยบาย และคณะกรรมการฝ่ายบริหาร ซึ่งการจะตั้งสถานบันเทิงครบวงจรในพื้นที่ใดนั้น จะต้องเริ่มต้นในการศึกษาความคุ้มค่าของแต่ละพื้นที่ก่อน ว่าในประเทศไทยควรมี Entertainment Complex กี่แห่ง และตั้งอยู่ในพื้นที่ใดบ้างที่มีศักยภาพ และแต่ละพื้นที่ควรมีองค์ประกอบสำคัญอะไรบ้าง

“เมื่อได้ผลการศึกษาออกมาแล้ว หน่วยงานนี้ (สำนักงานคณะกรรมการฯ) ก็จะทำหน้าที่ออก TOR ผู้สนใจซึ่งเป็นผู้ลงทุน ต้องไปจัดตั้งเป็นกลุ่มบริษัท (Consortium) ที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน เช่น ส่วนหนึ่งอาจถนัดโรงแรม อีกส่วนอาจถนัดเรื่องอาหาร อีกส่วนอาจถนัดห้างสรรพสินค้า สวนสนุก แล้วนำมาเสนอคณะกรรมการ ซึ่งเราจะมีเกณฑ์ที่โปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อให้ทุกคนสามารถนำเสนอได้ และต้องพิจารณาในเรื่องความเหมาะสมทุกประการ ทั้งพื้นฐานของบริษัท ประสบการณ์ สิ่งที่นำเสนอจะมาเป็นจุดเปลี่ยนให้กับประเทศไทยได้จริงหรือไม่ จะสร้างเม็ดเงินเพิ่มขึ้น ดึงดูดนักลงทุน นกท่องเที่ยวได้จริงหรือไม่ และมีประวัติเป็นทุนสีเทาหรือไม่ มีประวัติฟอกเงิน ค้ามนุษย์หรือไม่ เราต้องดูให้ครบถ้วน รอบคอบ รัดกุมที่สุด จากนั้นจึงจะมีการวินิจฉัยให้คะแนนอย่างที่ทุกคนตรวจสอบได้ จึงจะมีผู้ลงทุนที่ได้รับใบอนุญาตต่อไป” รมช.คลัง กล่าว

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้ เดิมครม. มีมติ (13 ม.ค. 68) อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. ที่จัดทำโดยกระทรวงการคลัง และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไปนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ยังคงมีหลักการตามที่ ครม. อนุมัติไว้ แต่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

– กำหนดให้นายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายร่วมกัน (เดิมกำหนดให้เป็นนายกรัฐมนตรี)

– เพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบาย ในการพิจารณาเรื่องสำคัญที่ต้องเสนอครม. เช่น เสนอแนะนโยบายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือการกำหนดพื้นที่ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อประกอบการ พิจารณาของครม.

– แก้ไขกลไกการได้มาซึ่งผู้อำนวยการ โดยให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้ง (จากเดิมคณะกรรมการนโยบายแต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของครม.)

– กำหนดกรอบนโยบายสถานบันเทิงครบวงจรที่คณะกรรมการนโยบายเสนอแนะต่อครม. อย่างน้อยต้องประกอบด้วย

1. การกำหนดจำนวนใบอนุญาต

2. พื้นที่ที่จะอนุญาตให้ตั้งสถานบันเทิงครบวงจร

3. หลักเกณฑ์การพิจารณาร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน

4. มาตรการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร

5. กำหนดเพิ่มเติมให้พื้นที่ที่จะอนุญาตให้ตั้งสถานบันเทิงครบวงจรต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ประกอบด้วย

6. (กำหนดใหม่) ให้กำหนดสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโน โดยเฉพาะสถานที่จัดให้มีการเล่นพนันซึ่งจะต้องไม่เกิน 10% ของที่ดินหรือพื้นที่ใช้สอยของอาคารอันเป็นที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร แล้วแต่กรณีใดจะน้อยกว่ากัน

7. (กำหนดใหม่) กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงถือว่าเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับการก่อสร้างและใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามประเภทธุรกิจที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และให้ถือว่าผู้ได้รับใบอนุญาตที่จัดให้มีกาสิโนเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

8. (กำหนดใหม่) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบาย กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมการประกอบการกาสิโนโดยต้องมี (8.1) การจัดให้มีมาตรการป้องกันการฟอกเงิน (8.2) ระบบควบคุมกาสิโน ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และ (8.3) มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากกาสิโน (เดิมไม่มี)

9. กำหนดให้บุคคลสัญชาติไทยซึ่งจะเล่นพนันในกาสิโนต้องมีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน และผ่านการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหาร กำหนด (เดิมกำหนด ห้ามเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยซึ่งยังมิได้ลงทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมตามที่คณะกรรมการกำหนด)

10. (กำหนดใหม่) ห้ามผู้รับใบอนุญาตหรือบุคคลใดจ้างหรือให้ผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใดแก่บุคคลอื่น หรือเพิ่มยอดหรือจำนวนคนเล่นพนันในกาสิโน หรือเพื่อเพิ่มจำนวนเงินที่ใช้จ่ายในการเล่นพนันในกาสิโน (เดิมไม่มี)

11. เพิ่มเติมมาตรการปรับเป็นพินัย เช่น ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้อำนวยการที่สั่งให้ปฏิบัติข้อกำหนด และปล่อยปละละเลยหรือยินยอมให้บุคคลต้องห้ามเข้าไปในกาสิโน

12. เพิ่มเติมลักษณะการกระทำความผิดที่จะได้รับโทษทางอาญา เช่น การจัดให้มีการเล่นพนันในกาสิโนผ่านการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์ หรือถ่ายทอดการเล่นพนันในกาสิโน และกระทำการที่เป็นการเพิ่มยอดหรือเพิ่มจำนวนคนเล่นพนันหรือเพิ่มจำนวนเงินที่ใช้จ่ายในการเล่นพนันในกาสิโน

ทั้งนี้ ได้นำความเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมที่เน้นให้ความสำคัญกับการกำหนดโครงสร้างของกฎหมายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐบาล การสร้างความชัดเจนในการกำกับดูแลและการป้องกันผลกระทบเชิงลบด้านสังคม การกำหนดพื้นที่สถานที่ตั้งสถานบันเทิงครบวงจรให้มีความเหมาะสม การกำหนดผู้รักษาการร่วมตามร่างพ.ร.บ.ฯ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ การพิจารณาความคุ้มค่าในการจัดตั้งสำนักงานกำกับสถานบันเทิงครบวงจร ความยืดหยุ่นในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร ความเหมาะสมขององค์ประกอบ คณะกรรมการบริหาร การบูรณาการประสานงานระหว่างหน่วยงาน และการสร้างการรับรู้ต่อสังคมในวงกว้าง ต่อไป

“ยืนยันว่า รัฐบาลจะสนับสนุนส่งเสริมในส่วนของเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่จะส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวของประเทศเป็นหลัก โดยจะไม่เน้นเรื่องกาสิโนที่มีอยู่เพียงแค่ 10% และจะดำเนินการตามพ.ร.บ. อย่างเคร่งครัด” นายจิรายุ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 68)

Tags: , , , ,