น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอวานนี้ (20 ก.ค.) มีการหารือถึงการปรับแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์วันนี้บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า แจ้งมาแล้วว่าไม่สามารถจัดส่งได้ตามจำนวนที่กระทรวงสาธารณสุขแจ้งไป แต่รัฐบาลได้ดำเนินการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค และไฟเซอร์เข้ามา ซึ่งปริมาณวัคซีนที่จะฉีดในแต่ละเดือนยังคงเป็นไปตามแผน แต่อาจมีบางช่วงเวลาสะดุดบ้าง เพราะจำนวนทยอยเข้ามา ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ บริจาคให้ไทย 1.5 ล้านโดสนั้น จะเข้ามาประมาณสิ้นเดือนก.ค.นี้
ส่วนข้อเรียกร้องจากประชาชนในต่างจังหวัดที่ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดนั้น รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ประชาชนมีความตื่นตัวและต้องการฉีดวัคซีนกันมากขึ้น แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงในพื้นที่ 13 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวใน 7 กลุ่มเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่นี้เป็นลำดับแรกก่อน ส่วนจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อน้อย กระทรวงสาธารณสุขจะกระจายวัคซีนไปให้ตามสัดส่วน
น.ส.รัชดา กล่าวถึงการรับเงินเยียวยาจากผลกระทบโควิดของผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ใน 3 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้มเพิ่มเติม คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยาว่า จะได้รับรับสิทธิ์เหมือนกันทั้ง 13 จังหวัด โดยแรงงานที่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ขอให้ไปขึ้นทะเบียนตามมาตรา 40 ซึ่งสามารถลงทะเบียนที่ร้านสะดวกซื้อ หรือลงทะเบียนผ่านออนไลน์ได้ ส่วนผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิ์ รัฐบาลจะเริ่มโอนเงินให้ในช่วงต้นเดือนส.ค. โดยจะเริ่มจากผู้ประกันตน มาตรา 33 ก่อน เนื่องจากข้อมูลอยู่ในระบบแล้ว
ส่วนมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเอสเอ็มอี คาดว่ารัฐบาลจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือออกมาในระยะถัดไป และในวันนี้นายกรัฐมนตรีจะมีการหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 40 CEO เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคเอกชน ภายหลังที่รัฐบาลยกระดับมาตรการในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19
รองโฆษกรัฐบาล ยอมรับว่า โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ไม่ได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อมากนัก เห็นได้จากไม่ค่อยมีผู้มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ประกอบกับในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มข้นมีคำสั่งให้ปิดห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า จึงทำให้ครม.ต้องมีการปรับมาตรการเพื่อจูงใจมากขึ้น
ส่วนการขึ้นทะเบียนพักชำระหนี้ จะเน้นไปยังกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ทั้งเอสเอ็มอีและรายย่อย ซึ่งเป็นการพักชำระหนี้ 2 เดือน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยขอให้ประชาชนติดตามมาตรการให้ความช่วยเหลือจากทั้งธนาคารของรัฐและธนาคารพาณิชย์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 64)
Tags: ฉีดวัคซีนโควิด, ผู้ประกันตนมาตรา 33, รัชดา ธนาดิเรก, วัคซีนต้านโควิด-19, เงินเยียวยา