นายอนุชา บูรพชัยศรี ทโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินหน้าขับเคลื่อนแนวทางปฏิบัติเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการหลอกลวงผ่านโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังมีการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 เป็นต้นมา
ขณะนี้รัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินงานและช่องทางสำหรับให้บริการประชาชนได้สะดวกและรวดเร็ว โดยเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อจัดทำกระบวนการทำงานตามที่กำหนดใน พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และบริการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันยังพบมีประชาชนถูกหลอกลวงจำนวนมากและมูลค่าความเสียหายสูงด้วย ซึ่งการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวคาดว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการหยุดและป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ ตลอดจนหยุดวงจรการโอนเงินไปยังต่างประเทศได้รวดเร็วขึ้น
ล่าสุด ธปท.และสมาคมธนาคารไทย ได้เชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากันทั้งหมดผ่านระบบกลางแล้วโดยเมื่อได้รับแจ้งจากผู้เสียหายจะสามารถยับยั้งธุรกรรมต้องสงสัยได้อย่างรวดเร็ว โดยเป็นการทำงานแบบอัตโนมัติ(Automation) นอกจากนี้ ยังได้จัด Workshop ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปแนวทางบริหารจัดการทุจริตออนไลน์จากการทำธุรกรรมการเงิน เพื่อรองรับการบริการผู้เสียหายสามารถโทรแจ้งให้ธนาคารระงับธุรกรรมต้องสงสัยได้ทันที และยับยั้งการโอนเงินทุกธนาคารที่รับโอนเงินต่อเป็นการชั่วคราว ซึ่งหลังจากแจ้งธนาคารแล้ว ให้ผู้เสียหายแจ้งความกับพนักงานสอบสวนได้ทั่วประเทศ หรือผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์ภายใน 72 ชั่วโมง และพนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันหลังจากได้รับแจ้ง
ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้เตรียมการรองรับในส่วนพนักงานสอบสวนและระบบการรับแจ้งความออนไลน์ เพื่อเร่งจับกุมผู้กระทำความผิดฐานเปิดบัญชีม้าและซิมม้า รวมทั้งผู้เป็นธุระจัดหาหรือโฆษณาบัญชีม้าและซิมม้ามาดำเนินคดีเพื่อตัดวงจรอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งบทลงโทษสูงสุดของผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายอนุชา ย้ำว่าในส่วนของสำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์ก็กำลังอยู่ระหว่างจัดเตรียมระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ เพื่อสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์และพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์กันเองได้รวดเร็วขึ้น เพื่อนำมาใช้ประกอบการดำเนินคดีและจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษ อีกทั้ง กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์ยังได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ ปิดกั้น SMS และเบอร์โทรศัพท์ที่เข้าข่ายหลอกลวงผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง
รวมไปถึงสำนักงาน ปปง. ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งควรได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเป็นผู้พิจารณากำหนดรายชื่อดังกล่าว ขณะนี้มีการกำหนดรายชื่อประเภทรายชื่อบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐาน หรือเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกใช้ในการกระทำความผิดมูลฐานกรณีพนักงานสอบสวนยังไม่รับเป็นเลขคดีอาญา แล้วได้แจ้งรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย ประมาณ 1,000 รายชื่อ ให้สถาบันการเงินเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการทำธุรกรรมการเงินที่อาจสร้างความเสียหายต่อไป
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หรือเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปลอดภัย และรู้เท่าทันกลหลอกลวงต่าง ๆ ที่มาพร้อมเทคโนโลยี ซึ่งการขับเคลื่อนกิจกรรมและแนวทางปฏิบัติในการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการร่วมกันดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนจากการถูกหลอกลวงผ่านโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วมีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องถึงความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันต่อเหตุที่เกิดขึ้น และขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันทำงานขับเคลื่อนตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ รวมถึงการลดและป้องกันให้ประชาชนปลอดภัยจากการถูกหลอกลวงดังกล่าว” นายอนุชา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 66)
Tags: มิจฉาชีพ, อนุชา บูรพชัยศรี, อาชญากรรมทางเทคโนโลยี