ผลสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นเผยให้เห็นว่า พนักงานประจำเพศหญิงในญี่ปุ่นได้รับค่าจ้างเพียง 70-80% ของที่ผู้ชายได้รับ ซึ่งตอกย้ำถึงความท้าทายที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญเพื่อบรรลุความเท่าเทียมทางเพศในสถานที่ทำงาน
แม้ว่าช่องว่างระหว่างเพศจะแคบลง แต่ญี่ปุ่นก็ยังตามหลังหลายประเทศในยุโรป ขณะที่จำนวนพนักงานหญิงในระดับบริหารในญี่ปุ่นก็ยังอยู่ในระดับต่ำ และระยะเวลาการจ้างงานโดยเฉลี่ยของผู้หญิงก็สั้นกว่าของผู้ชาย
ผลสำรวจในปี 2566 เผยให้เห็นว่า ระดับค่าจ้างเฉลี่ยของผู้หญิงอยู่ที่ 74.8 เมื่อเทียบกับผู้ชายซึ่งอยู่ที่ 100 โดยจังหวัดโคจิมีช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศแคบที่สุดที่ 80.4 ส่วนจังหวัดโทชิงิมีช่องว่างกว้างที่สุดที่ 71.0
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยดัชนีช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ หลังจากที่รัฐบาลได้กำหนดให้บริษัทที่มีพนักงาน 301 คนขึ้นไปต้องรายงานข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่ปี 2565 โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ในขณะที่ผู้สูงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดว่าจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเลวร้ายลงไปอีก
ทั้งนี้ ความแตกต่างของระดับค่าจ้างระหว่างชายและหญิงถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แรงงานหญิงจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ย้ายไปทำงานในเมืองใหญ่ เช่น โตเกียว ซึ่งมีงานให้เลือกมากกว่าและค่าจ้างก็สูงกว่าในชนบท
นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งบริหารเป็นอย่างน้อย 30% ภายในปี 2573
บริษัทวิจัยเอกชน เตโกกุ ดาต้าแบงก์ (Teikoku Databank) เปิดเผยว่า สัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งบริหารเพิ่มขึ้นแตะ 10.9% ในผลสำรวจล่าสุด ซึ่งถือว่าเกิน 10% เป็นครั้งแรก โดยมีบริษัทประมาณ 11,300 แห่งตอบแบบสำรวจเมื่อเดือนก.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ย. 67)