นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital) เพื่อใช้ Digital ID ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในการใช้บริการต่างๆ ที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นการใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำและมั่นคงปลอดภัย โดยรัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจาก พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้
สำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน แทนระบบเดิมที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการต้องมาเผชิญหน้าและแสดงตน เพื่อยืนยันตัวตนด้วยเอกสารทางราชการ เป็นการสร้างมิติใหม่ของการทำธุรกรรมภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีความสะดวก รวดเร็ว ผ่านช่องทางดิจิทัล และมีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการใช้เอกสารราชการปลอมในกระบวนการยืนยันตัวตนของระบบเดิม อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการบริการประชาชนของภาครัฐและภาคเอกชนที่จะต้องปรับตัวและวิธีการเพื่อตอบสนองงานบริการแนวใหม่ที่ไม่ต้องเผชิญหน้า หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกด้วย
โดยขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่ได้อนุญาตให้สามารถใช้บัตรประชาชนดิจิทัลเพื่อติดต่อทำธุรกรรมต่างๆ ได้ เช่น กรมสรรพากรที่ได้มีการเชื่อมโยงแอปพลิเคชัน D.DOPA กับเว็บไซต์กรมสรรพากร เพื่อเป็นช่องทางยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 90/91/94 ได้ และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ได้อนุญาตให้ประชาชนที่โดยสารเครื่องบิน สามารถแสดงเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงบัตรประชาชนดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA เพื่อยืนยันผ่านจุดตรวจค้น และเป็นเอกสารประกอบกับบัตรผ่านขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) ก่อนขึ้นเครื่องได้ด้วย ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี
“ปัจจุบันบริการจากภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล รัฐบาลจึงขอเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ให้สามารถใช้ Digital ID ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง เพื่อใช้ในการติดต่อทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน ใช้พิสูจน์และยืนยันสถานะของตัวบุคคลเมื่อต้องทำธุรกรรมหรือนิติกรรมต่างๆ รวมทั้งใช้ยืนยันสถานภาพการเป็นคนไทยของตัวบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มั่นคงปลอดภัย” นายอนุชา กล่าว
สำหรับแอปพลิเคชัน D.DOPA ได้พัฒนาเวอร์ชันล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนด้วยตัวเองเพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง จากเดิมต้องลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ในการขอรับบริการการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนที่สำนักทะเบียน ได้แก่ สำนักงานเขตทุกเขตในกรุงเทพมหานคร และที่ว่าการอำเภอทุกจังหวัด
ขั้นตอนการลงทะเบียนด้วยตัวเองจะใช้วิธีถ่ายรูปบัตรประจำตัวประชาชนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จากนั้นสแกนใบหน้าเพื่อประมวลผลผ่านเทคโนโลยีชีวมิติ แล้วตั้งรหัสผ่าน 8 หลักเพื่อเข้าใช้งานเป็นอันเสร็จสิ้น โดยผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน D.DOPA ของกรมการปกครอง ได้ทั้งระบบ ios และ Android โดยสามารถลงทะเบียนด้วยตนเอง หรือลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ ซึ่งภายหลังลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้องติดต่อรับบริการจากหน่วยงานรัฐ หรือมีเจ้าพนักงานเรียกตรวจบัตรประชาชนในกรณีต่างๆ ประชาชนสามารถใช้สมาร์ทโฟนที่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแล้วข้างต้นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่เรียกตรวจแทนการใช้บัตรประชาชนได้
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคาดว่าในปี 2566 จะมีประชาชนใช้ Digital ID แทนบัตรประจำตัวประชาชนประมาณ 10 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังกรมการปกครองได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนทั้งหมดไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์ และกระทรวงดิจิทัลฯ ยังคาดว่า Digital ID จะเข้ามาแทนที่การยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนด้วยความปลอดภัยที่สูงกว่า เนื่องจาก Digital ID จะมีลักษณะเป็นคิวอาร์โค้ด ขณะที่บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงจะเกิดโอกาสที่มิจฉาชีพเห็นข้อมูลหน้าบัตรจากการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การแลกบัตร การติดต่อหน่วยงาน การใช้ประกอบการทำธุรกรรมการเงิน หรือธุรกิจต่างๆ โดย Digital ID จะช่วยลดการปลอมแปลงบัตรประชาชน หรือสวมรอยเจ้าของที่แท้จริงได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มี.ค. 66)
Tags: DOPA-Digital, บัตรประชาชน, อนุชา บูรพชัยศรี