น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่ผู้เตรียมฟ้องรัฐบาลเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้มีการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวกเพิ่มเติม โดยอ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดได้นั้น
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะแผนการจัดหาวัคซีน ประกอบไปด้วยคณะแพทย์ผู้เชียวชาญระดับประเทศ และมีงานวิชาการรองรับ เป็นไปตามกฎหมายทุกขั้นตอน สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ และทำตามหลักการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ส่วนความกังวลว่าวัคซีนซิโนแวกอาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อที่กำลังแพร่ระบาดได้นั้น ปัจจุบันข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ยังไม่มีวัคซีนชนิดใดที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้ 100% แม้แต่วัคซีนชนิด mRNA แต่ทุกชนิดรวมทั้งวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตายสามารถลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้
ล่าสุดองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อมูล เพื่อย้ำว่า วัคซีนที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยประเทศไทยมีวัคซีน 3 ชนิดที่ให้บริการไปแล้ว ได้แก่ แอสตราเซเนกา ซิโนฟาร์ม และ ซิโนแวค
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างรอส่งมอบวัคซีน mRNA ในช่วงไตรมาส 4/64 อาทิ วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดสตามแผนวัคซีนหลัก และโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือก รัฐบาลจะเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้ประชาชนในวงกว้างให้มากที่สุด เพื่อลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ซึ่งแผนการดังกล่าวภาครัฐได้ดำเนินการและสื่อสารมาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้เพิ่งอนุมัติจัดหาในการประชุม ครม.ที่ผ่านมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 64)
Tags: Sinovac, WHO, คณะรัฐมนตรี, ครม., รัฐธรรมนูญ, วัคซีน, วัคซีนซิโนแวก, วัคซีนต้านโควิด-19, องค์การอนามัยโลก, ไตรศุลี ไตรสรณกุล