นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนเองได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเร่งสำรวจตัวเลข พร้อมทั้งกำชับให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมร่วมทำแบบประเมินตนเอง Thai Stop COVID Plus (Good factory Practice, GFP) และ Thai Save Thai ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้
โดยแพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติงาน และแนวทางปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งผู้ประกอบการต้องประเมินตนเองอย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์ ขณะที่พนักงานก็ต้องประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Save Thai ก่อนเข้าโรงงาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้มีการแพร่เชื้อในสถานประกอบการ
ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ.ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) คัดเลือกโรงงานเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีจำนวนคนงานมากกว่า 200 คน ซึ่งมีจำนวน 278 โรงงาน จำแนกเป็น โรงงานที่มีคนงาน 200-500 คน จำนวน 206 โรง โรงงานที่มีคนงาน 500-1,000 คน จำนวน 40 โรง และโรงงานที่มีคนงานมากกว่า 1,000 คน จำนวน 32 โรง เป็นโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหารหรือแปรรูปอาหาร โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า และโรงงานอื่นๆ
โดยหลังจากวันที่ 15 มิ.ย.64 กลุ่มเป้าหมายแรกที่ กรอ. ร่วมกับ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบ จำนวน 40 โรงงานโดยคัดเลือกจากโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง และโรงงานที่มีความแออัดในพื้นที่ปฏิบัติงานก่อน โดยเป็นโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหาร หรือการแปรรูปอาหารทุกขนาด จำนวน 12 โรง และโรงงานที่มีความแออัดเนื่องจากมีจำนวนคนงานมากกว่า 1,000 คน จำนวน 28 โรง
นอกจากการทำแบบประเมินดังกล่าวแล้ว กรอ.ยังได้จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติแผนรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับสถานประกอบกิจการ (Business Continuity Plan : BCP) เพื่อให้แต่ละโรงงานเตรียมรับมือและเตรียมความพร้อมในการประคองกิจการให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้แม้ในยามวิกฤตหรือฉุกเฉิน โดยกำหนดแนวทาง ดังนี้
- จัดตั้งทีมบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Plan Team) โดยมอบหมายเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 1 คน เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการความต่อเนื่องของธุรกิจ
- ระบุวิกฤตหรือเหตุฉุกเฉินและผลกระทบต่อสถานประกอบกิจการ อย่างน้อย 5 มิติ อาทิ อาคารและสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยีและข้อมูลสำคัญ บุคลากรและทรัพยากรทางการเงิน และคู่ค้า/ผู้ให้บริการ/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- วางกลยุทธ์ความต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อเป็นแนวทางจัดหาและบริหารทรัพยากรให้มีความพร้อมเมื่อเกิดวิกฤต
- ฝึกซ้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแผนบริหารความต่อเนื่อง โดยโรงงานอุตสาหกรรมควรฝึกซ้อมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้พนักงานมีความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่เสมอ รวมถึงปรับปรุงแผนการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจให้ทันสมัยและสามารถรองรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 64)
Tags: กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กรอ., กระทรวงอุตสาหกรรม, ประกอบ วิวิธจินดา, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, โรงงานอุตสาหกรรม