นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “ทิศทางพลังงานไทย กับเป้าหมายลดการปล่อย CO2” ว่า รัฐบาลกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยในช่วง 40 ปีจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสของโลกที่กำลังมุ่งไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ และรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ ทิศทางที่รัฐบาลได้ดำเนินการในขณะนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการติดตาม ปฎิบัติ หรือมีนโยบายสอดคล้องกับกระแสสังคมโลก ยังเป็นการลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสใหม่ๆ ในประเทศไทยด้วย โดยรัฐบาลก็ได้วางงบลงทุนราว 2 ล้านล้านบาทเพื่อสนับสนุนให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในระยเวลา 40 ปีจากนี้
ปัจจุบันประเทศไทยเองได้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 350 ล้านตัน/ปี ทั้งนี้ กลุ่มสาขาพลังงานถือเป็นกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซฯ สูงสุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น โดยมีปริมาณถึง 250 ล้านตัน/ปี หากไม่เดินตามกระแสโลกที่จะต้องดูแลโลกร่วมกัน จะทำให้ไทยมีภาระ หรือต้นทุนการแข่งขันของประเทศสูงถึง 700,000 ล้านบาท/ปี (ประเมินจากราคาคาร์บอนเครดิตวันนี้) ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ไทยต้องมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซฯ
เป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะลดการปล่อยก๊าซฯ ลงเหลือ 90 ล้านตัน/ปีภายใน 40 ปีจากนี้ ก่อนจะเดินหน้าต่อไปให้เหลือศูนย์ จะทำได้โดยการกักเก็บคาร์บอนในหลากหลายวิธี เช่น เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับ ซึ่งในอดีตนั้นพื้นที่สีเขียวนี้มีรายได้จากพืชผล หรือต้นไม้ที่ปลูกเท่านั้น แต่ในอนาคตจะมีรายได้เสริมเข้ามาอีกจากการขายคาร์บอนเครดิต หรือขายคุณภาพในการดูดซับคาร์บอนจากระบบได้ ทำให้ท้องถิ่น ฐานรากเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น
มติของ กพช. ได้ให้แนวทางในการบรรลุเป้าหมายไว้ใน 4 ด้าน ดังนี้
- เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียน ให้มากกว่า 50% โดยปัจจุบันก็ได้มีการนำร่องโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากคาดว่าภายในไม่เกิน ต.ค.นี้น่าจะทราบผลการประมูลรับซื้อไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว
- ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าให้มีการใช้และการผลิตในประเทศให้มากขึ้น ตามนโยบาย 30:30 โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนของนโยบายการสนับสนุนของรัฐบาลภายในเดือน ก.ย.64
- เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน หรือลดการใช้พลังงานในระบบอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ได้มากกว่า 30% โดยนำเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ ปัจจุบันก็เริ่มดำเนินการแล้วค่อนข้างมาก
- การปรับโครงสร้างกิจการต่างๆ ผ่านคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ให้ได้โดยเร็วในช่วง 1 ปี และ 4 ปี
“ในมุมมองของผมต่อเรื่องดังกล่าวนี้ มันเป็นกระแสสังคมโลก เป็นเรื่องที่เราต้องทำ เพราะเราเห็นประโยชน์ และถ้าไม่ทำเราก็จะมีความเสี่ยง ในด้านต้นทุนการแข่งขันของประเทศ หากทุกประเทศทั่วโลกเดินหน้าเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำตามมติที่จะเกิดขึ้นในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาเร่งรัด ทั้งส่งเสริม หรือบังคับทางมาตรการภาษี ทำให้ต้นทุนการแข่งขันของประเทศไทยมีมากขึ้นถ้าเราไม่ทำอะไรในวันนี้
รวมถึงยังมองเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยในการที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมดั่งเดิม หรือต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิม ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ มีความหลากหลายของเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชีวมวล ชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ หรือแม้การนำเข้าพลังงานสะอาดจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็ถือว่ามีศักยภาพที่สูง และโดดเด่นในภูมิภาคนี้ เชื่อได้ว่าเราเดินตามทิศทางนี้จะเป็นประโยชน์”
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สอดคล้องสังคมคาร์บอนต่ำนั้น ก็จะมีเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีการผลิตในประเทศไทยตามนโยบาย 30:30 คือ การผลิตในประเทศ 30% จะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าสะอาดใน 9 ปีจากนี้ รวมถึงสถานีประจุไฟฟ้า แบตเตอรี่ และยังมีอย่างอื่นอีก เช่น Smart Electronic เป็นต้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เห็นได้จากปัจจุบันที่มีผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น หลังรัฐบาลประกาศทิศทางพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีต่างๆ
นอกจากนี้ มองว่าการที่สามารถตอบโจทย์เรื่องของพลังงานสะอาดได้ รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมา จะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาในอุตสาหกรรมใหม่นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ส.ค. 64)
Tags: กพช., กระทรวงพลังงาน, ก๊าซเรือนกระจก, คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ, พลังงานสะอาด, ลดโลกร้อน, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์