นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนานโยบายเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ ในเรื่อง “นโยบาย ความคาดหวัง และทิศทางการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย” ว่า ประเทศไทย ได้ประกาศเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การเป็น Carbon Neutrality ในปี 2050 (2593) และบรรลุเป้าหมาย Net Zero Greenhouse Gas ในปี 2065 (2608) และพร้อมรับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี การเงิน รวมถึงร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในการมุ่งสู่เป้าหมายนี้
ปัจจุบันประเทศไทย ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 350 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของประเทศ ราว 8 แสนล้านบาท/ปี โดยภาคพลังงานถือเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนฯ มากที่สุดในสัดส่วน 71% ทำให้ต้องมีกลไกที่ผลักดันให้ภาคพลังงานปล่อยคาร์บอนโดยใช้พลังงานที่สะอาด ด้วยต้นทุนพลังงานที่แข่งขันได้ และรักษาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไว้ โดยมีแนวทางการดำเนินงานตามกรอบพลังงานแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็น สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ ที่เป็นสัดส่วนจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น จาก 23% เป็น 50% ในปี 2043, การส่งเสิรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ ตามนโยบาย 30@30 หรือมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศในสัดส่วน 30% ในปี 2030 (2573) เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตรถ EV และชิ้นส่วนยานยนต์, การปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ดีขึ้น โดยตั้งเป้าหมายการใช้พลังงานให้น้อยลงกว่า 30% ในปี 2040 (2583)
โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่มาใช้, การปรับโครงสร้างกิจการพลังงาน รองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ตามแนวทาง 4D1E ได้แก่ Decarbonization การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน, Digitalization การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน, Decentralization การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน, Deregulation การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ และ Electrification การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า
“ในมุมมองของผม ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นต้นแบบทางด้าน Decarbonization ของภูมิภาคอาเซียน ในการเปลี่ยนถ่ายระบบเศรษฐกิจไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในประเทศตามมา และการดึงดูดอุตสาหกรรมอนาคต หรือ New S-curve อย่าง EV ไม่ว่าจะเป็นการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ การจัดตั้งสถานีชาร์จ รวมถึงการลงทุนในพลังงานสะอาด ขณะเดียวกันในด้านของตลาดทุน ก็จะมีบทบาทในการเป็นแหล่งระดมทุน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต”
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
อนึ่ง นโยบายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือที่เรียกว่า Climate Change เป็นเรื่องที่เริ่มกันมาตั้งแต่พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ปี 1997 (2540) ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประชุม Conference of the Parties (COP) และในการประชุม Conference of the Parties (COP 21) เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นการตกลงครั้งสำคัญ และถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ 196 ประเทศมีเป้าหมายร่วมกันในการรักษาอุณหภูมิของโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และปรับเป็น 1.5 องศาเซลเซียส เนื่องจากเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างชัดเจน
ล่าสุด องค์การรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ได้จัดการประชุมCOP26 หลายประเทศได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ และได้ประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero) เช่น ยุโรป สหรัฐ หรือญี่ปุ่น ภายในปี 2050 (2593) ขณะที่จีน 2060 (2603) ด้านกลุ่มประเทศอาเซียนก็ทยอยประกาศตามมาเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ธ.ค. 64)
Tags: ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, พลังงาน, ยานยนต์ไฟฟ้า, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, อุตสาหกรรม