นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) มีการดำเนินการต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 4 ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการจัดการข้อมูลที่เป็นเท็จทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะข่าวปลอมที่สร้างความตื่นตระหนกและความเสียหายกับประชาชนและสาธารณชนในวงกว้าง ซึ่งปัจจุบันพบปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ และรวมถึงปัญหา Call Center ที่ทันต่อเหตุการณ์ จะเร่งรัดให้ใช้เทคโนโลยีป้องกันปราบปรามหลอกลวงออนไลน์ และ Central Fraud Registry จะตรงกับแผนงานนโยบายที่ได้มอบให้กระทรวง DE ดำเนินการ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน มีเครือข่ายผู้ประสานงานที่เข้าร่วมร่วมตรวจสอบให้นั้น มีมากกว่า 300 หน่วยงาน ทำหน้าที่การตรวจสอบและเผยแพร่ข่าวที่ถูกต้องแก่ประชาชน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
สำหรับระยะต่อไปของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจะต้องเร่งดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1. การตั้ง Task Force Command Center เพื่อปราบปรามเชิงรุก เพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์การหลอกลวงทางการเงิน และภัยออนไลน์ ที่ทำให้ประชาชนผู้สุจริตถูกหลอกลวงจำนวนมาก และมีมูลค่า ความเสียหายสูงมาก และการหลอกลวงดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และเป็นอันตรายร้ายแรง ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ปัจจุบันมีการแอบอ้าง โลโก้หน่วยงานรัฐ ปลอมแปลงเว็บไซต์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ (SMS /Call Center) เป็นต้น
2. การนำเอาเทคโนโลยี Data Analytics และ AI มาใช้เพื่อเพิ่มความโปร่งใส เป็นกลาง และเป็นข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชน ในการตรวจสอบและกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร ในประเด็นต่างๆ ให้มีความรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ และสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้แชร์ข่าวปลอม เป็นลักษณะ AFNC AI เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ Link ข่าวผ่านเว็บไซต์ AFNC ได้ ว่า ตรง/ไม่ตรง ตามฐานข้อมูลที่เรามีอยู่ใน 4 ปี ระบบสามารถแสดงผลการตรวจสอบได้เลย ว่าที่ส่งมานั้น ตรงกับฐานข้อมูลเราอยู่กี่เปอร์เซนต์ เช่น จาก Link ที่ส่งมาตรงกับฐานข้อมูลข่าวปลอม70% โดยแสดงผลแบบ Highlight ว่า Wording ส่วนไหนบ้างที่ตรง ส่วนไหนที่ไม่ตรง และจะ เรียกว่าเป็น AFNC Search AI ที่สามารถให้ข้อมูลได้เลยเมื่อ Search หาข่าวที่เกี่ยวข้อง และแสดงผลออกมาเป็นข้อมูลเนื้อความได้เลย
3. การสร้าง Cyber Vaccine สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มถูกหลอกลวงสูง ได้แก่ กลุ่มเด็กเยาวชน นักเรียนนักศึกษา ผู้สูงอายุ เร่งสร้างความตระหนักรู้ รู้เท่าทัน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ หากมีกิจกรรมให้ความรู้อย่างเหมาะสม ก็สามารถเป็นผู้ที่ช่วยในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และป้องกันข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จต่าง ๆ แก่คนรอบตัว คนในชุมชนตนเอง และช่วย สร้างวัฒนธรรมการรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณก่อนจะเผยแพร่หรือส่งต่อ ในอินเทอร์เน็ตสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาข่าวปลอมและการเผยแพร่ ข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป จึงมุ่งหน้าเร่งเครื่องสร้างภูมิคุ้มกันให้ไม่หลงเชื่อข่าวปลอม ข่าวลวง เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางออนไลน์ได้
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้มีการพูดคุยขอความร่วมมือร่วมกับกระทรวงกลาโหมในการจัดการกวาดล้าง เสาสัญญาณเถื่อนตามแนวตระเวนชายแดน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งของการดำเนินการเชิงรุกของกระทรวง เพราะเห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องทำให้ประชาชนไม่ถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย
สำหรับกระบวนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีการใช้เทคโนโลยีระบบ Social Listening Tool ในการรวบรวมข้อมูล เพื่อแจ้งเตือนข่าวปลอมใน 4 หมวดหมู่ข่าว ประกอบด้วย 1) ข่าวกลุ่มภัยพิบัติ 2) ข่าวกลุ่มเศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร หุ้น 3) ข่าวกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ และ4) ข่าวกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคมขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ รวมถึงรับแจ้งเบาะแสข่าวปลอมจากประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดตามช่องทางสื่อสาร ของศูนย์ฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566) ดังนี้
1) Website: www.antifakenewscenter.com จำนวน 16,275,981 ผู้รับชม
2) Line Official Account: @antifakenewscenter จำนวน 2,779,953 ผู้ติดตาม
3) Facebook: Anti-Fake News Center Thailand จำนวน 108,274 ผู้ติดตาม
4) Twitter: @AFNCThailand จำนวน 16,682 ผู้ติดตาม
5) Instagram: afnc_thailand จำนวน 709 ผู้ติดตาม
6) TikTok: @antifakenewscenter จำนวน 556 ผู้ติดตาม
จากผลการดำเนินงานตั้งแต่เปิดศูนย์จนถึงปัจจุบัน ได้รับการแจ้งเบาะแสจากประชาชนมากกว่า 1,085,707,543 ข้อความ โดยมีข่าวที่ข่าวที่เข้าข่ายการตรวจสอบ 49,725 ต้นโพสต์ และทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ทำการเผยแพร่ข่าว 6,390 เรื่อง นอกจากนี้ ยังได้รับความสนใจจากสื่อหลักนำข้อมูลไปนำเสนอผ่านช่องทางสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ของกลุ่มผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ที่ติดตามช่องทางประชาสัมพันธ์ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบว่า แต่ละแพลตฟอร์มจะมีกลุ่มช่วงอายุของผู้ติดตามต่างกันเล็กน้อย เช่น LINE ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 45 – 54 ปี แต่ TikTok และ X.com จะมีกลุ่มผู้ติดตามที่มีอายุน้อย แต่ในภาพรวมผู้ติดตามศูนย์ฯ ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงาน จึงเป็นความท้าทายของศูนย์ฯ ที่จะต้องปรับรูปแบบการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น และผู้สูงวัยให้มากขึ้น ส่วนในมุมมองของเพศนั้น ไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากข่าวสารที่ศูนย์ฯเผยแพร่ เป็นข่าวที่เป็นประโยชน์โดยทั่วไป ไม่ได้เจาะจงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ขณะเดียวกัน จากสถิติของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ จนถึงปัจจุบัน พบว่า คนอายุ 35-44 ปี ให้ความสนใจติดตามข่าวสารจากศูนย์ฯ มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ เมื่อเทียบกับการติดตามของแพลตฟอร์มของศูนย์ฯ ที่มีการติดตามสูงสุดในช่องทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้จะมีการติดตามข่าวสารในช่องทางออนไลน์ หรือ ใช้สื่อโซเชียลในการติดต่อสื่อสาร และจะพยายามทำความเข้าใจการคัดกรองข่าวสารก่อนจะแชร์ต่อ อีกด้านของข้อมูล พบว่าคนที่แชร์ข่าวปลอมมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากกลุ่มอายุดังกล่าวจะใช้สื่อในการติดต่อค้นหาเพื่อนเก่าๆ ครอบครัว หรือ กลุ่มลูกหลาน โดยส่วนใหญ่จะนิยมใช้ ไลน์ ในการติดต่อสื่อสาร และส่งต่อข้อมูลให้กัน โดยข้อความที่ส่งต่ออาจจะยังไม่ถูกคัดกรองว่าเชื่อถือได้หรือไม่ได้ รวมถึงอาจจะยังขาดทักษะ digital literacy หรือทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ติดกับดักข่าวปลอมได้ง่าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 66)
Tags: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ข่าวปลอม, ประเสริฐ จันทรรวงทอง, เฟคนิวส์, แก๊งคอลเซ็นเตอร์