นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ THAILAND ECONOMIC MONITOR เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จัดโดยธนาคารโลก (World Bank) ว่า ปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น โดยเฉพาะจากภาคการส่งออกในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 64 แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตของไทยยังไปได้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวนั้น รัฐบาลได้เริ่มโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และโครงการสมุยพลัส ซึ่งเป็นโมเดลในการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด ถือเป็นมาตรการที่จำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย
“รัฐบาลมองว่าการส่งออก และการท่องเที่ยวยังเป็นรายได้หลักของประเทศ ดังนั้นการเร่งดำเนินการด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่กับการป้องกันและรักษาผู้ติดเชื้อในประเทศ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากจนเกินไป”
นายอาคม กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลได้วาง 4 แนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะถัดไป ได้แก่
- มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาในระยะสั้นยังมีความจำเป็น ทั้งมาตรการด้านการเงิน ผ่านโครงการพักชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ ยังเป็นโครงการที่ต้องทำต่อเนื่องในระยะยาว แม้ว่าปัจจุบันสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการพักหนี้ให้เป็นเวลา 2 เดือน แต่เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อาจจะไม่ได้เร็วอย่างที่คิด รายได้ของผู้ประกอบการอาจจะไม่มีเข้ามาทันทีเพื่อชำระหนี้ได้ ดังนั้นต้องติดตามว่าการช่วยเหลือด้านการเงิน จะสามารถยืดเวลาออกไปได้อีกหรือไม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งในและนอกระบบมีลมหายใจ ต่อชีวิตการทำธุรกิจในระยะถัดไปได้ ส่วนมาตรการด้านการคลังก็ยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้น ถือเป็นมาตรการจำเป็นที่ต้องดำเนินการตั้งแต่ก่อนเศรษฐกิจฟื้นตัว
- การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยการเน้นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy Model) ภายใต้นโยบายสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่จำเป็น มุ่งลดการใช้พลังงาน หรือใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น, การผลักดันดิจิทัลอีโคโนมี เป็นจุดที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในภาครัฐและเอกชน, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ สนับสนุนโครงการรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และมุ่งเน้นธุรกิจเฮลท์แคร์ ซึ่งไทยมีจุดแข็งอย่างมาก โดยรัฐบาลต้องเข้ามาให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น
- การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในระยะต่อไปภาระภาคการคลังจะมีมากขึ้น ดังนั้นการปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจึงมีความจำเป็นว่าจะทำอย่างไรให้การจัดเก็บรายได้มีความยั่งยืน สามารถรองรับวิกฤติต่าง ๆ และไม่กระทบกระเทือนความน่าเชื่อถือของประเทศ
- การให้ความสำคัญกับระบบการคุ้มครองทางสังคมผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและประชาชน เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองทางสังคมอย่างทั่วถึง และไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐมากจนเกินความจำเป็น
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าววว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นมาตรการด้านการคลังในช่วงนี้จึงเน้นช่วยเหลือและลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนอย่างครอบคลุม และรวดเร็วที่สุด โดยจะมี 4 มาตรการสำคัญที่ดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งมาตรการคนละครึ่ง มาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ มาตรการเติมเงินสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการเติมเงินให้กลุ่มเปราะบางที่ไม่มีสมาร์ทโฟน เพื่อกระตุ้นและช่วยเหลือด้านกำลังซื้อแก่ประชาชนอย่างครอบคลุม โดยรัฐบาลตั้งเป้า 50 ล้านคน
“ตอนผลักดัน 4 มาตรการนี้ ยังไม่เห็นเรื่องล็อกดาวน์ วัตถุประสงค์ของมาตรการจึงเน้นให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เป้าหมายถึง 50 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีเข้าโครงการมาแล้ว 44 ล้านคน แต่พอการระบาดของโควิด-19 หนักขึ้นก็กระทบคนตัวเล็ก เม็ดเงินที่เดิมคาดว่าจากทั้ง 4 โครงการจะมีเม็ดเงินเข้าระบบ 4 แสนกว่าล้านบาท ก็อาจจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง เพราะมีมาตรการล็อกดาวน์
ส่วนที่ถามว่าเหตุใดเมื่อมีล็อกดาวน์แล้ว รัฐบาลจึงไม่ชะลอโครงการไปก่อนนั้น ขอชี้แจงว่ามาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นแค่ในบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ล็อกดาวน์ ดังนั้นมาตรการก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ แต่รัฐบาลไม่ได้เร่ง ดูจากมาตรการช่วยเหลือที่ยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ และเมื่อสถานการณ์ทุกอย่างเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลับมาได้แล้ว กระทรวงการคลังก็จะเน้นเรื่องการฟื้นฟูอีกครั้ง”
น.ส.กุลยา กล่าว
พร้อมยืนยันว่า นโยบายการคลังยังมีช่องว่างให้สามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยเม็ดเงินจากการกู้เงินตาม พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ได้ทยอยเบิกจ่ายใกล้ครบแล้ว และยังมีเม็ดเงินใหม่จาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาทที่เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ในระยะถัดไปอีก
ส่วนความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมหรือไม่นั้น คงต้องดูตามความเหมาะสมและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจด้วย โดยกรณีเลวร้ายหากกระทรวงการคลังต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติมในสถานการณ์วิกฤติ ก็สามารถขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มจาก 60% ของจีดีพีได้ และในระยะถัดไปก็ต้องกลับมาดูเรื่องการสร้างวินัยทางการคลัง โดยการดำเนินการทั้งหมด ต้องทำควบคู่ไปกับการกระจายวัคซีนป้องกันโควิดอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญต้องไปคู่กันทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุข
สำหรับเป้าหมายนโยบายการคลังในระยะปานกลางนั้น จะต้องเน้นการเพิ่มศักยภาพด้านการคลัง ผ่านการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ ส่งเสริมรายได้รัฐให้ยั่งยืน การควบคุมการจัดสรรงบประมาณ การลงทุนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการใช้จ่ายในระดับพื้นที่ ตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ควบคู่กับการบริหารหนี้สาธารณะ ที่จะต้องทำให้มีภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิด บริหารความเสี่ยงภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม
“ระยะนี้ ประเทศไทยก็ต้องใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว ยังเห็นการขาดดุลงบประมาณอยู่ แต่ในระยะยาว ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพ รัฐบาลสามารถเพิ่มศักยภาพด้านการคลัง รายได้ รายจ่าย ก็มีเป้าหมายในระยะยาวที่รัฐบาลจะทยอยปรับลดขนาดการขาดดุล และมุ่งสู่การจัดทำงบสมดุลในที่สุด แต่คงเป็นแผนในระยะยาวพอสมควร”
ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ค. 64)
Tags: การส่งออก, กุลยา ตันติเตมิท, ฟื้นฟูเศรษฐกิจ, ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์, สมุยพลัส, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, เศรษฐกิจไทย