นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “แก้หนี้คนอีสาน” ในงานสัมนา “ISAN NEXT พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก” โดยระบุว่า การแก้หนี้ให้แก่คนอีสานได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือ ต้องทำให้เศรษฐกิจภาคอีสานเติบโต ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาหนี้เป็นไปได้อย่างถูกทาง
ทั้งนี้ ภาคอีสาน ประกอบด้วย 20 จังหวัด มีประชากรราว 18 ล้านคน คิดเป็น 27% ของประชากรรวมทั้งประเทศ แต่กลับมีรายได้ต่อหัวเพียง 1 ใน 3 ของ 250,000 บาทที่เป็นรายได้เฉลี่ย/หัว/ปี ของคนทั้งประเทศเท่านั้น โดยภาคอีสาน มีขนาดเศรษฐกิจไม่ถึง 10% ของขนาดเศรษฐกิจประเทศ
ปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนของไทย อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท แต่ขนาดเศรษฐกิจของประเทศ อยู่ที่ 19 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับประชาชนมีหนี้รวมกันประมาณ 90% ของขนาดเศรษฐกิจประเทศ ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก จากที่ไม่ควรเกินระดับ 70% นอกจากนี้ ยังเป็นหนี้ที่ไม่สามารถชำระคืนได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งทำให้เป็นปัญหาต่อสถาบันการเงิน คิดเป็นยอดหนี้ที่ค้างชำระอยู่ถึง 1 ล้านล้านบาท จากหนี้ครัวเรือนทั้งหมดราว 16 ล้านล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลเล็งเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ในส่วนนี้ก่อน
ทำให้ล่าสุด รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย โดยการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดภาระดอกเบี้ย โดยการเน้นตัดต้นเงินลูกหนี้ ลดภาระการผ่อนชำระค่างวดในระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่ชำระ จะนำไปตัดยอดเงินต้นทั้งหมด เพื่อให้ลูกหนี้สามารถปิดหนี้ได้เร็วขึ้น โดยจะพักชำระดอกเบี้ยไว้ในช่วงระยะเวลาที่ร่วมโครงการ โดยเมื่อจบโครงการแล้ว ดอกเบี้ยที่พักไว้ก็จะยกให้ทั้งหมด
“ถ้าปล่อยให้หนี้ครัวเรือน หรือหนี้ SME มีปัญหาไปนาน ๆ ต่อเนื่องจนลุกไม่ขึ้น วันหนึ่งปัญหาเหล่านี้ ก็จะลามไปถึงสถาบันการเงินอยู่ดี สถาบันการเงินก็ไม่รอด ดังนั้นสถาบันการเงิน จึงยินดีให้ความร่วมมือ ดอกเบี้ยปีหนึ่งเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ถ้า 3 ปีรวมกันก็ 240,000 ล้านบาท รัฐบาลช่วยครึ่งหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์ช่วยครึ่งหนึ่ง ตอนนี้เราเปิดให้ลงทะเบียนแล้ว มีคนมาลงทะเบียนเยอะมาก จะเปิดไปจนถึง 28 ก.พ.68 ทั้งหมดนี้ ถ้าเราทำได้ดี ประจวบกับเศรษฐกิจผลักให้ขึ้นได้ ท่านก็จะยืนอยู่ได้ ปัญหาหนี้ได้รับการแก้ไข ไม่เป็นหนี้เรื้อรัง” รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าว
นายพิชัย กล่าวด้วยว่า แนวโน้มที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจภาคอีสานฟื้นตัว ส่วนหนึ่งจะมาจากเส้นทางการค้าของจีนในการขนส่งสินค้าสู่ตลาดโลก โดยเส้นทางดังกล่าวที่เริ่มจากจีน ผ่านมาที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว เข้าสู่ไทยที่หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น มาที่นครราชสีมา กรุงเทพฯ เพื่อลงไปทางภาคใต้ของไทย ก่อนจะผ่านเข้าไปยังมาเลเซีย จนถึงสิงคโปร์ ส่วนอีกเส้นทางขนส่งที่เชื่อมระหว่างฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออก คือตั้งแต่เมียนมา เข้ามาที่ไทย ผ่านมาถึงภาคอีสาน ทะลุออกไปลาว เวียดนาม และจีน
โดยเชื่อว่าภาคอีสาน จะได้รับอานิสงส์จากเส้นทางโลจิสติกส์เหล่านี้ นำมาซึ่งความเจริญต่อเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากที่รัฐบาลได้เร่งรัดการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางราง ทั้งรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ตลอดจนทางด่วนพิเศษ
“สินค้าจะส่งออกมาจากจีน เพื่อสู่ตลาดโลก โดยจะมาผ่านที่อีสานเป็นส่วนใหญ่ อีกเส้นคือ จีนพร้อมออกมาตามเส้นทางที่เราเตรียมไว้ ทางอันดามัน แปลว่าประเทศไทย และอีสานจะได้รับอานิสงส์นี้ ถ้าเราสามารถดำเนินนโยบายที่ดี คือ เป็นโลจิสติกส์ และทางผ่านให้กับประเทศที่มีสินค้าส่งออก และนำเข้า เส้นทางนี้จะหนาแน่นไปด้วยสินค้าส่งออก และวัตถุดิบ นั่นคือโอกาสของเรา ตอนนี้เส้นทางจากเหนือลงใต้ และตะวันตกสู่ตะวันออก พร้อมแล้ว ที่ใดก็ตามที่มีเส้นทางขนส่งผ่าน มีเส้นทางรถไฟผ่าน แสดงว่าพร้อมแล้ว ที่จะมีความเจริญเกิดขึ้นในระหว่างเส้นทางนั้น” นายพิชัย กล่าว
รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวด้วยว่า จากที่ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีรายได้น้อยนั้น นั่นคืออดีต แต่สำหรับวันนี้ ประเทศที่ทำเกษตรกรรม จะมีไบโอเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรของไทย ให้ไปสู่สินค้าที่มีนวัตกรรม หรือมีการพัฒนาที่ให้เป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับภาคเกษตรได้เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ดังนั้นเมื่อแก้หนี้แล้ว การแก้หนี้ที่เบ็ดเสร็จไม่ให้เรื้อรัง คือทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอย่างเห็นหน้าเห็นหลัง นี่คือสิ่งที่มองเห็นโอกาสของภาคอีสาน
“สินค้าที่เกี่ยวกับการเกษตร ทุกคนมุ่งมาที่เมืองไทย สามารถสร้างราคาได้เพิ่มตั้งแต่ 7 เท่าถึง 1,000 เท่า แล้วแต่ว่าเป็นประเภทของอาหาร หรือยา ที่มีตัวตั้งต้นมาจากสินค้าเกษตรกรรม ดังนั้นไบโอเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญที่จะเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต ที่ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของโครงสร้างความมั่นคงของประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งจะกลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้อย่างสูงให้กับประเทศไทย” นายพิชัย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ธ.ค. 67)
Tags: พิชัย ชุณหวชิร, หนี้ครัวเรือน