นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวในตอนหนึ่งของการปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในยุคโลกเดือด” โดยแสดงความเห็นต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.5% ไม่ได้ถือว่าสูงมาก แต่ก็ไม่เห็นสัญญาณการปรับลดลงได้ ซึ่งจะเห็นว่าที่ผ่านมา มีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ จนส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่า ดังนั้นมองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องดำเนินการบางอย่าง
พร้อมมองว่า ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจที่เล็ก เมื่อเทียบกับประเทศในโลก ดังนั้นจึงควรต้องดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก มากกว่าสถานการณ์ภายในประเทศ
“2.5% ไม่ได้สูง แต่ไม่สามารถจะส่งสัญญาณลดได้ แล้วเกิดอะไรขึ้น จะเห็นว่าเงินไหลเข้า ค่าเงินแข็ง ท่านก็ต้องดำเนินการอะไรบางอย่าง…ต้องยอมรับว่าประเทศไทย เป็นหนึ่งในส่วนเล็ก ๆ ของโลกใบนี้ เราต้องสอดคล้องกับสถานการณ์โลก มากกว่าสถานการณ์ภายใน” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าว
นายพิชัย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาหลักสำคัญ คือ เรื่องหนี้ ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก คือ หนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ และหนี้ภาครัฐ
ในส่วนของหนี้ครัวเรือนนั้น ล่าสุดพบว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับ 1.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% จากเดือนเม.ย.67 ส่วนหนี้ภาคธุรกิจ มี NPL อยู่ที่ 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% และหนี้ภาครัฐ อยู่ที่ 11.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.3% ต่อ GDP
รมว.คลัง เห็นว่า หนี้เสียของภาคครัวเรือนนั้น หากแยกดู จะพบว่าเป็นหนี้จากสินเชื่อบัตรเครดิต 6.8 หมื่นล้านบาท, หนี้จากสินเชื่อบ้าน 2.2 แสนล้านบาท, หนี้จากสินเชื่อรถยนต์ 2.5 แสนล้านบาท หนี้จากสินเชื่อเพื่อการอุปโภค-บริโภค 2.8 แสนล้านบาท และหนี้อื่น ๆ 3.3 แสนล้านบาท โดยในส่วนของหนี้รถยนต์นั้น รัฐบาลพยายามเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในส่วนของรถที่ถูกยึด หรือผ่อนต่อไม่ไหว เพื่อให้ผู้ที่มีความต้องการได้นำไปใช้ประโยชน์ โดยรัฐบาลจะหามาตรการเข้าไปช่วยสนับสนุน เช่น การนำรถยนต์ที่ถูกยึดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เพราะยังอยู่ในระหว่างการจัดทำมาตรการ ส่วนปัญหายอดขายรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ลดลงนั้น มองว่าเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ
สำหรับการแก้ปัญหาหนี้เสียบัตรเครดิต ซึ่งมีมูลหนี้อยู่ 6.8 หมื่นล้านบาท และหนี้อุปโภคบริโภค 2.8 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการผ่านคลินิคแก้หนี้ โดยเปิดให้ประชาชนรวมหนี้ แล้วมาผ่อนจ่ายดอกเบี้ยต่ำ 3% นาน 5 ปี ด้านหนี้เสียบ้าน มูลหนี้ 2.2 แสนล้านบาท ก็ให้สถาบันการเงินเข้ามาช่วยดู เช่น ปรับโครงการสร้างหนี้ ขยายเวลาชำระเงินงวดให้นานขึ้น เพื่อลดจำนวนเงินที่จะจ่ายต่องวดให้น้อยลง ซึ่งจะทำให้มีเหลือเงินในกระเป๋าไว้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าว NPL เหล่านี้ สถาบันการเงินแต่ละแห่งได้ตั้งสำรองหนี้สูญแล้ว จึงมีคำถามว่า ผลกำไรที่แสดงออกมาสู่สาธารณะ จะสามารถนำออกมาช่วยเหลืออะไรได้บ้างหรือไม่ เช่น การช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับประชาชน และธุรกิจ SME ทั้งนี้ มองว่าประชาชนควรได้รับความช่วยเหลือก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ ถัดมาคือ SME
“บัญชีฐานะการเงินของสถาบันการเงินทุกแห่ง ได้ตั้งสำรองหนี้สูญแล้ว กำไรที่แสดงต่อสาธารณะชนได้แบกรับความเสียหายจากหนี้ไม่ดีแล้ว มันน่าจะเหลือช่องว่างที่จะทำอะไรบ้างอย่างได้หรือไม่ ในเมื่อค่าความเสียหายเหล่านั้น ได้รับการ take care แล้ว แปลว่าได้ตีต้นทุนเหล่านั้นเป็นศูนย์แล้ว…ผมพยายามจะ message ไปถึงสถาบันการเงินว่า หนี้เสียของท่านได้ตั้งสำรองครบแล้ว สถาบันการเงินไทยฐานะการเงินเข้มแข็งมาก เป็นเรื่องดีที่จะได้ช่วยเหลือลูกค้าได้ ลูกค้าของท่าน 90% เป็นคนไทย ถ้าท่านดูแลให้กลุ่มนี้อยู่รอด ในระยะยาวเขาก็จะกลับมาเป็นลูกค้าท่าน ตอบโจทย์ความยั่งยืนได้ ตอบโจทย์การบริหารงานที่ดี ไม่ใช่สปอยลูกค้าด้วยการยกหนี้” นายพิชัย ระบุ
นายพิชัย กล่าวว่า นอกจากการแก้ปัญหาหนี้แล้ว รัฐบาลยังเน้นการลงทุนด้วยการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายว่าใน 3 ปี (2566-2568) จะมีเม็ดเงินลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เกิดขึ้นจริง 1.68 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2568 คาดมีเงินลงทุนสูงถึง 6.38 แสนล้านบาท มาจากการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ รองลงมา คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ก.ค. 67)
Tags: พิชัย ชุณหวชิร, หนี้ครัวเรือน, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เงินบาท, เศรษฐกิจไทย