นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ได้รายงานผลการดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 และการเร่งรัดการนำเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ในช่วงขอนแก่น – หนองคายรวมถึงการติดตามโครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ สายเหนืออีสาน ดังนี้
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 9 สัญญา นั้น พบว่าผลการก่อสร้างเร็วกว่าแผนงาน จำนวน 1 สัญญา ได้แก่ โครงการฯ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 1 มีผลงานการก่อสร้าง ร้อยละ 94.13 เร็วกว่าแผน0.59%
และการก่อสร้างโครงการทางคู่ ระยะที่ 1 ที่มีผลการก่อสร้าง ล่าช้ากว่าแผนงาน จำนวน 8 สัญญา ประกอบด้วย
– ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ สัญญาที่ 1 มีความก้าวหน้า 71.47% ล่าช้ากว่าแผน 13.58%
– ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ สัญญาที่ 2 มีความก้าวหน้า 71.74% ล่าช้ากว่าแผน 24.8%
– ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 3 มีความก้าวหน้า 90.58% ล่าช้ากว่าแผน 4.093%
– ช่วงนครปฐม – หัวหิน สัญญาที่ 1 มีความก้าวหน้า 97.09% ล่าช้ากว่าแผน 0.2%
– ช่วงนครปฐม – หัวหิน สัญญาที่ 2 มีความก้าวหน้า 94.84% ล่าช้ากว่าแผน 0.166%
– ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ มีความก้าวหน้า 99.94% ล่าช้ากว่าแผน 0.06%
– ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร สัญญาที่ 1 มีความก้าวหน้า 85.08% ล่าช้ากว่าแผน 14.923%
– ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร สัญญาที่ 2 มีความก้าวหน้า 87.30% ล่าช้ากว่าแผน 12.568%
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงินโครงการ 29,748 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการ รฟท. ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 64 โดยกระทรวงคมนาคมได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อหน่วยงานเพื่อขอความเห็นประกอบการเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาของหน่วยงาน
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทางได้แก่
1. ช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ งบประมาณ 85,343.96 ล้านบาท อยู่ระหว่างการรังวัดที่ดิน และแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ตาม พ.ร.บ. เวนคืน 2562 และเสนอขออนุมัติสั่งจ้างผู้ให้บริการงานควบคุมการก่อสร้าง
2.ช่วงบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม งบประมาณ 66,846.53 ล้านบาท อยู่ระหว่างการสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืนและวางแผนการรังวัดที่ดิน และเสนอขออนุมัติสั่งจ้างผู้ให้บริการงานควบคุมการก่อสร้าง
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้มีข้อสั่งการให้รฟท. นำแนวทางบริหารจัดการ 6 มิติ ประกอบด้วย 1. มิติการออกแบบ 2. มิติการประชาสัมพันธ์ 3. มิติด้านสัญญา 4. มิติการคัดเลือกผู้รับจ้าง 5. มิติการรื้อย้ายสาธารณูปโภค และ 6. มิติการบริหารงาน/การเร่งรัดการก่อสร้าง/การบริหารพื้นที่ร่วม ไปประกอบการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนงาน
และให้รฟท. กำกับ ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่หรือโครงการในอนาคตที่จะต้องก่อสร้างผ่านเขตชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ พร้อมทั้ง เร่งรัดการดำเนินการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเสนอ สศช. โดยเร็ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 65)
Tags: การรถไฟแห่งประเทศไทย, รถไฟทางคู่, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ