รมว.คมนาคม ขีดเส้นแผนพัฒนาสถานีหมอชิตใหม่จบในรัฐบาลนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวถึงการพัฒนาปรับปรุงสถานีขนส่งผู้โดยสาร หมอชิต 2 ว่า ทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จะดำเนินการใน 2 ส่วนคู่ขนานกันไป คือ

การปรับปรุงสถานีหมอชิต 2 ที่ถนนกำแพงเพชร ในปัจจุบันให้มีสภาพที่ดีขึ้น เช่น การปรับปรุงสภาพพื้นที่ต่างๆ มีการติดเครื่องปรับอากาศเพิ่มเติม ปรับปรุงพื้นที่พักคอยของผู้โดยสาร ปรับปรุงห้องน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการดูแลความปลอดภัยผู้โดยสาร ไม่ให้มีพื้นที่ลับตา เป็นต้น โดยให้ บขส. เร่งจ้างที่ปรึกษา ในการออกแบบ และเร่งดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567

ขณะเดียวกันจะเนินการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ไปอยู่ใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยให้ บขส.จ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียด ออกแบบและกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม มูลค่าการลงทุน รูปแบบการลงทุน ให้ศึกษาแล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานกลางในการพิจารณาร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เนื่องจาก บขส.ใช้พื้นที่ย่านพหลโยธินจาก รฟท.

“ต่อไปสถานีขนส่ง บขส.ที่กระจายอยู่หลายแห่งจะมารวมกันที่พื้นที่ใหม่ใกล้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งสายเหนือ สายอีสาน สายใต้ และสายตะวันออก (เอกมัย) เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง ที่สามารถเชื่อมต่อทางรางได้สะดวกการพัฒนาจะเป็นแนวตึกสูง มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่จะสร้างรายได้เพิ่ม ส่วนเรื่องการลงทุนพัฒนาสถานีขนส่งหมอชิตแห่งใหม่ ผมมองว่า บขส.ไม่มีปัญหา เพราะมีทรัพย์สิน แค่ที่สถานีขนส่งเอกมัยตีมูลค่าได้ 7,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งทั้งการปรับปรุงพื้นที่และความสะดวกสถานีหมอชิต 2 และการพัฒนาสถานีขนส่งแห่งใหม่จะเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้” นายสุริยะ กล่าว

ขณะที่ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า หลักการพัฒนาสถานีขนส่งหมอชิต 2 นั้น เบื้องต้นในระยะสั้นจะเป็นการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่สถานีในปัจจุบัน ส่วนในระยะยาวจะมีการศึกษาออกแบบ เพื่อขยายพื้นที่สถานีเพิ่มเติม โดยอาจจะก่อสร้างอาคารใหม่ประมาณ 2 อาคาร เพื่อรองรับเส้นทาง บขส. ทั้งสายใต้และสายตะวันออก (เอกมัย) ที่จะมารวมกัน โดยจะขยายออกมาด้านที่เชื่อมต่อกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งปัจจุบันหมอชิต 2-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ฯ มีระยะทางห่างกันประมาณ 800 เมตรเท่านั้น

“ต้องรอการศึกษาออกแบบเสร็จก่อนจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยจะเป็นการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) หลักการ คือ จะยังใช้สถานีหมอชิต 2 เดิมโดยปรับปรุงสภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ดีขึ้น และมีการก่อสร้าง อาคารใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับรถสายใต้ สายเอกมัยที่จะมาอยู่รวมกัน โดยขยายพื้นที่มาใกล้ทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และมีทางเดินเชื่อมต่อ ให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการ โดยจะขอเช่าใช้พื้นที่จาก รฟท. ซึ่งขณะนี้แผนพัฒนาพื้นที่ย่านพหลโยธิน ยังสามารถปรับปรุงได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพในปัจจุบัน” นายปัญญา กล่าว

ด้าน น.ส.ระพิพรรณ วรรณพินทุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการเดินรถ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า บขส.พร้อมดำเนินการตามนโยบายของ รมว.คมนาคม ในการพัฒนาปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของสถานีหมอชิต 2 โดยตามขั้นตอนจะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการ บขส. พิจารณาก่อน ซึ่งปัจจุบันบอร์ด บขส.ยังมีจำนวนไม่ครบจึงยังประชุมไม่ได้ โดยอยู่ระหว่างเตรียมประชุมผุ้ถือหุ้นบริษัท เพื่อแต่งตั้งบอร์ด บขส.ให้ครบตามระเบียบก่อน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ม.ค. 67)

Tags: , , , ,