นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ช่วงกระทู้ถามสด ของนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่ตั้งคำถามถึงโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (ASF) ว่า จากเหตุการณ์ที่เจอซากสุกรลอยน้ำในแม่น้ำโขง ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อเดือนส.ค.62 ตนได้ลงพื้นที่ด้วย และขอให้ตรวจพิสูจน์ซากเพราะเชื่อว่าเป็นโรคระบาดในสุกรที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และต้องกำจัดด้วยการทำลายสุกร อย่างไรก็ดี การป้องกันโรคระบาด ช่วงแรกเอกชนลงขันเป็นเงินหลัก 100 ล้านบาท และคิดเป็นค่าเผาทำลายสุกร รวม 90 ล้านบาท
“ผลแลประบุว่าไม่พบอหิวาห์แอฟริกา เป็นไวรัส แต่เป็น PRRS ดังนั้นไม่ใช่ว่าเราไม่ยอมรับ แต่ผลแลปยืนยันมาแบบนี้ ขอทำความเข้าใจกับสมาชิกต่อกรณีการปกปิด ทั้งนี้ โรคในสุกรที่ตายจำนวนมาก คือ โรค ASF, โรค PRRS ระบบสืบพันธุ์และระบบหายใจ และ CSF อหิวาห์ในสุกร ซึ่งอาการของโรคนั้นเหมือนกัน และตายภายใน 1 วัน โดย ASF ไม่มีวัคซีน ส่วนโรค PRRS เกษตรกรไม่อยากฉีดเพราะยามีราคาแพง ส่วน CSF ฉีดได้ทุกตัว เพราะราคาถูก อย่างไรก็ดี รัฐบาลไม่มีการปกปิด สำหรับหมูที่ตายทั้งสิ้น 2.7 แสนตัว ผลแลปบอกว่าเป็น PRRS”
นายประภัตร ชี้แจง
นายประภัตร ชี้แจงด้วยว่า ปริมาณหมูในประเทศมีจำนวน 19 ล้านตัว มีกลุ่มผู้เลี้ยงรวม 1.9 แสนราย แบ่งเป็นรายย่อยและรายเล็ก 1.8 แสนราย มีปริมาณหมูที่เลี้ยง ประมาณ 4 ล้านตัว ขณะที่รายใหญ่ 200 ราย และรายกลาง 3,000 ราย มีปริมาณหมูที่เลี้ยง 15 ล้านตัว โดยสาเหตุที่ทำให้ราคาเนื้อหมูแพง เนื่องจากราคาอาหารสัตว์และราคาลูกหมู โดยในเดือนพฤศจิกายน 64 ราคาต้นทุนการเลี้ยง 82 บาท เขียงหมูขาย 160 บาท แต่ในเดือนธันวาคม 64 – มกราคม 65 ต้นทุนขึ้น 91 บาท ราคาหน้าฟาร์ม 110 บาท ราคาขายเนื้อแดง 215 บาท
ด้านนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้ท้าพิสูจน์ให้ขุดซากหมูขึ้นมาตรวจอีกครั้ง เชื่อว่าจะเจอโรค ASF แน่นอน และมองว่ามีการปกปิดข้อมูลอย่างเป็นระบบ นอกจากนั้นในส่วนของราคาเนื้อหมูที่สูงขึ้น เชื่อว่ามีผู้ได้ประโยชน์จากผู้ค้าที่เก็บสต็อกเนื้อหมู และพร้อมจะพาไปแหล่งที่เก็บสต็อกเนื้อหมู ไม่ใช่ไปตรวจสต็อกที่โรงเนื้อแกะ และเนื้อวัว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ม.ค. 65)
Tags: ASF, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, ประภัตร โพธสุธน, สุกร, โรค PRRS, โรคระบาด