นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ในการพิจารณาวาระแรก โดยได้ขอบคุณน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ช่วยนำเสนอจุดอ่อนให้รัฐบาล พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งงบประมาณเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่ยังมีกลไกอื่นในการช่วยผลักดันของรัฐบาล บางโครงการอาจไม่จำเป็นต้องใช้เงิน เช่น การลดราคาพลังงาน ไม่ต้องตัดงบหลวงมาใช้ ส่วนงบการทำประชามติ เนื่องจากระยะเวลาไม่แน่นอนทำให้ไม่สามารถส่งคำขอมายังรัฐบาลได้ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการเดินหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีงบประมาณเพียงพออย่างแน่นอน
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่า งบประมาณฉบับนี้ไม่ได้แตกต่างจากงบประมาณของรัฐบาลชุดก่อนหน้า โดยยอมรับว่า รับมรดกมาจากรัฐบาลก่อนหน้าซึ่งเป็นเช่นนั้นจริง งบผูกพันหลายตัวไม่สามารถตัดออกได้ แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วได้มีการปรับให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันให้มากที่สุด
โดยการจัดสรรงบปี 67 มีสาระสำคัญ 3 ประการ ประกอบด้วย
-
ค่าใช้จ่ายตามสิทธิ ราว 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย งบบุคลากร งบกลาง งบช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง เงินเลื่อนชั้นเงินเดือน รวมถึงเบี้ยเด็กแรกเกิด เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ เบี้ยอื่นๆ โครงการเรียนฟรี 15 ปี เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะต้องบรรจุอยู่ในงบประมาณแผ่นดินไม่ว่ากรณีใดก็ตาม
-
ค่าใช้จ่ายตามข้อผูกพัน ทั้งสิ้น 628,000 ล้านบาท เป็นไปตามข้อสัญญา ข้อผูกพันตามกฎหมาย เช่น ค่าก่อสร้างที่มีการลงนามแล้ว มีการตรวจสอบแล้ว เป็นไปตามค่าใช้จ่ายพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณปี 2561 หรือผูกพันเดิม รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เช่น ค่าบำรุงสมาชิกกองทุนระหว่างประเทศ รายจ่ายที่ชดใช้เงินคงคลัง ทั้งหมดเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ซึ่งไม่สามารถหลบหลีกได้
-
ค่าใช้จ่ายตามขั้นพื้นฐาน มีราว 5 แสนล้านบาท ประกอบด้วยค่าสาธารณูปโภค ค่าบำรุงรักษางบกลาง ค่ารายจ่ายฉุกเฉินและจำเป็น ทั้งหมดนี้จะถูกบรรจุในงบประมาณตามสัดส่วน ตามกฎหมายกำหนด รวมทั้งหมดประมาณ 2.5 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายซึ่งสามารถบริหารจัดการได้ เกิดประโยชน์กับประชาชน แต่บางอย่างถูกกำหนดตามกฎหมายเพื่อให้บรรจุเข้าไปในงบประมาณ
ส่วนที่เหลือราว 1.5 ล้านบาท เป็นรายจ่ายที่จัดสรรให้การดำเนินการตามนโยบาย ที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสภาฯ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 66 ประกอบไปด้วยงบประมาณ ดังนี้
-
การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เช่น 30,000 ล้านบาท เป็นเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สิน ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และผลักดันการท่องเที่ยว และคือการแก้ไขปัญหาและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ราว 1 แสนล้านบาท
-
ในระยะกลางและระยะยาว เป็นสัดส่วนของการสร้างรายได้ ซึ่งเป็นจุดสำคัญของรัฐบาลจะเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องรายได้ให้ประชาชนราว 368,000 ล้านบาท เช่น การทูตเชิงรุก การเจรจาการค้า การพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบ ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ การทำ Matching funds การสนับสนุนสตาร์ตอัป รายได้ภาคการเกษตร ตลาดนำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้ การบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร ทั้งหมดนี้เป็นกลไกที่ถูกปรับเปลี่ยนและทำให้ล้อกับนโยบายชุดปัจจุบัน
ส่วนต่อมาเป็นการสร้างโอกาสอีกราว 520,000 ล้านบาท สร้างสิทธิให้ประชาชนสามารถเข้าถึงที่ดินทำกิน สร้างผู้เชี่ยวชาญ แรงงานประเภทต่างๆ สนับสนุน Soft Power กีฬา การศึกษา สังคม การดูแลนักเรียน และเรื่องการสร้างคุณภาพชีวิตอีกราว 488,000 ล้านบาท ปรับโครงสร้างภาครัฐให้มีความเหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์ และรองรับการบริการประชาชนได้ครบถ้วน การแก้ไขปัญหายาเสพติด คืนลูกหลานให้ครอบครัว การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) การพัฒนาระบบสาธารณสุข 30 บาท รักษาทุกโรค รวมถึงสวัสดิการรัฐอื่นๆ
“ทั้งหมดราว 1.5 ล้านล้านบาท ถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เป็นสิ่งยืนยันว่าได้มีการปรับเปลี่ยนงบประมาณ ปี 67 ในส่วนที่มีความจำเป็นให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐ และขับเคลื่อนประเทศได้ให้เป็นไปตามทิศทางที่รัฐบาลวางไว้” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวถึงในส่วนของงบกลางมีการปรับเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดสัดส่วนงบส่วนนี้ไว้ในระดับ 2% แต่ไม่เกิน 3.5% เป็นกฎหมายที่กำหนดไว้ โดยในปีก่อนหน้าตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้ที่ 92,400 ล้านบาท คิดเป็น 2.9% ของสัดส่วนงบประมาณประจำปีก่อนหน้า แต่ปีนี้เนื่องด้วยกรอบงบประมาณปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.48 ล้านล้านบาท มีการปรับเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ งบกลางในส่วนนี้จึงขยับเพิ่มเป็น 98,500 ล้านบาท
“แน่นอนว่าทราบกันดีว่ากลไกของรัฐบาล งบกลางมีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชน ทั้งฝนตก น้ำท่วม น้ำแล้ง มีความจำเป็นต้องมีงบในลักษณะงบกลางที่สามารถปรับแก้ ปรับงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างทันท่วงที เราพยายามวาดภาพใหญ่ให้เห็น หลายคนมองภาพเล็กเกินไป ถ้ามองงบประมาณเป็นเพียงแค่กลไกในการขับเคลื่อนรัฐบาลในภาพหลัก ก็จะทำให้ไม่สามารถมองภาพอนาคตได้ มีการพูดถึงนโยบายบางตัว ซึ่งไม่ได้ปรากฏอยู่ มีการพูดถึงโครงการ เช่น โครงการเติมเงินเข้าไปสู่กองทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรืออุตสาหกรรม S-curve” นายจุลพันธ์ กล่าว
ในส่วนของความเป็นห่วงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต นายจุลพันธ์ ยอมรับว่า มีการปรับเปลี่ยนเรื่องแหล่งที่มาของเงินจากงบประมาณไปเป็นพ.ร.บ.การกู้เงินจริง กลไกในการเปลี่ยนมาจากการที่รัฐบาลอยากสร้างความโปร่งใส มีความชัดเจนและตรวจสอบได้ นอกจากนี้ในการหวังผลในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนกลับมาอยู่ดีกินดี กลไกที่ความเหมาะสมคือการสร้างแหล่งเงินใหม่ โดยควรมีแหล่งเงินจากภายนอกเข้ามา เพื่อเป็นการเติมเม็ดเงิน เพราะเงินในส่วนงบประมาณ เป็นการบริหารจัดการเพื่อเดินหน้าองคาพยพของภาครัฐ แก้ไขปัญหาพื้นฐานของประชาชน แต่เราต้องการเติมเงินอีกส่วนในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการกระตุ้น ให้ประชาชนพลิกฟื้นในภาวะที่ดีขึ้นได้ ให้เศรษฐกิจไทยกลับมาโตอยู่ในระดับที่เป็นไปตามศักยภาพของประเทศ
ดังนั้น กลไกนี้มีการเปลี่ยนแปลง จึงไม่เห็นดิจิทัลวอลเล็ตในงบประมาณแผ่นดินปี 67 โดยใช้กลไกกู้เงินตามพ.ร.บ.การกู้เงิน เพราะสุดท้ายพ.ร.บ.ต้องเข้าสู่สภาฯ ทุกคนในสภาฯ มีสิทธิในการวินิจฉัย พิจารณา ตั้งกรรมาธิการ ปรับลด แก้ หรือเพิ่ม เดินหน้าร่วมกันในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจประเทศผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท โครงการดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป
“ข้อคิดเห็นทั้งหมด รัฐบาล ส่วนงานราชการ และครม. ได้บันทึกเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงจุดอ่อนได้มีการจดบันทึก และจะนำข้อสังเกตไปพิจารณาร่วมกันในวาระที่ 2 ในชั้นกรรมาธิการ เพื่อปรับแก้ ปรับลด และทำให้เม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ในส่วนของข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จะรับไว้ แต่วาทกรรมขออนุญาตไม่ตอบ เพราะเข้าใจว่าบทบาทในสภาฯ อะไรที่เกินเลยไปเล็กน้อยถือว่ายกให้กัน เป็นเรื่องของเป็ดง่อยต่างๆ เรื่องแบ่งกินแบ่งใช้ เรารับฟังไว้ แต่เราเข้าใจกันดี เพราะอย่างไรก็ตามรัฐบาลชุดนี้มีความจริงใจ และมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งแน่นอนว่างบประมาณเป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อน” นายจุลพันธ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ม.ค. 67)
Tags: งบประมาณปี 67, งบประมาณรายจ่าย, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์