รมช.คมนาคม หนุนแปลงโฉมท่าเรือกรุงเทพรับท่องเที่ยว-เชื่อมต่อทางด่วน S1

นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่า ได้มอบหมายให้ กทท.เร่งหารายได้จากการบริหารทรัพย์สินให้มากขึ้น เช่น การนำที่ดินที่มีศักยภาพมาประมูล/ให้เช่า รวมทั้งพัฒนาระบบการบริหารสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์และสามารถแก้ไขปัญหาชุมชน รวมทั้งการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมของท่าเรือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการให้บริการ รวมทั้งนำระบบอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพสูง มาใช้ในการให้บริการเพื่อมุ่งสู่การเป็น Smart Port

โดยจะผลักดันโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษ สายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กม. วงเงินลงทุนรวม 4,445.80 ล้านบาท (กทท. รับผิดชอบลงทุน 2,000 ล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รับผิดชอบ 2,000 ล้านบาท) เพื่อลดผลกระทบปัญหาจราจรระหว่างท่าเรือกรุงเทพกับการจราจรบนท้องถนนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมต่อยอดระบบโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยการบูรณาการเชื่อมต่อระบบการคมนาคมขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมือง เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้เกิดสมรรถนะในการปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนนโยบายเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Transport) โดยบูรณาการระบบขนส่งให้เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ ทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำ เพื่อให้เกิดความสะดวก และรวดเร็ว

รมช.คมนาคม ยังได้เร่งรัดการเพิ่มขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา เพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ กำชับให้ดำเนินงานการจัดซื้อจัดจ้างและการปฏิบัติงานในทุกกิจกรรมให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้

รวมถึงการสนันสนุนให้ท่าเรือกรุงเทพ เป็นท่าเรือท่องเที่ยวในลักษณะคอมมูนิตี้ที่ทันสมัยสำหรับนักท่องเที่ยว (Cruise Terminal) บริเวณตึก OB เพื่อรองรับเรือสำราญขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีผู้โดยสารระดับ 1,000 คนขึ้นไปเพื่อ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า โครงการทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ได้ผ่านการตรวจจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (EIA) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาสัดส่วนการลงทุนร่วมกับ กทพ.

ซึ่งตามแผนปัจจุบัน อยู่ระหว่างการทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) โดย กทพ.จะเป็นผู้ประมูล ช่วงเดือน ม.ค.67-มี.ค. 67 เริ่มก่อสร้างภายในปีงบประมาณ 2567 และเปิดให้บริการปี 2570

ทั้งนี้ จะต้องมีการเจรจากับชุมชนท่าเรือคลองเตย 101 ที่ได้รับผลกระทบจากแนวเส้นทางโครงการ โดย กทท.เสนอทางเลือกที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ในโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) เพื่อเยียวยา

นายเกรียงไกร ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 114,046.93 ล้านบาท (กทท.ลงทุน 53,489.58 ล้านบาท เอกชนลงทุน 60,557.35 ล้านบาท) ล่าสุด กทท. ส่งมอบงานก่อสร้างงานทางทะเลในส่วนของงานพื้นที่ถมทะเล 1 (Key Date 1), พื้นที่ถมทะเล 2 (Key Date 2) ให้บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) เอกชนคู่สัญญาเรียบร้อยแล้ว ส่วนพื้นที่ถมทะเล 3 (Key Date 3) คาดส่งมอบพื้นที่ท่าเทียบเรือ F ขนาด 1,000 เมตร ให้GPC ได้ภายในกลางปี 67

ส่วนงานที่ 2 งานจ้างเหมา ก่อสร้างโครงการฯ ได้แก่ งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค วงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนจำหน่ายเอกสารการประกวดราคา ครั้งที่ 2 ซึ่งจะครบกำหนดยื่นข้อเสนอ ในวันที่ 15 ธ.ค.66 เนื่องจากครั้งที่ 1 มีผู้ยื่นเสนอเอกสารการประมูลรายเดียว

ส่วนงานที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนงานที่ 4 งานติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อยู่ระหว่างการทบทวนการออกแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่า จะเปิดประมูลได้ในปี 2567

นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า ผลการดำเนินการของ กทท. ในปี 2566 มีรายได้ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท กำไร 6,890 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 72 ปีนับตั้งแต่เปิดการดำเนินการ โดยตั้งเป้าหมายในปี 67 จะมีกำไร 7,000 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ต.ค. 66)

Tags: , , ,