รฟม.เร่งศึกษาเดินรถสายสีม่วงใต้แบบ PPP ชงบอร์ดปลายปีนี้ คาดเจรจา BEM คุ้มค่ากว่าเปิดประมูล

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า เรื่องการเดินรถสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดเพื่อจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) จัดหาเอกชนบริหารเดินรถไฟฟ้า โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จเพื่อเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.พิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะต้องเสนอ ยังกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการ PPP ตามขั้นตอนเอกชนร่วมลงทุนรัฐ (PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)

สำหรับแนวทางศึกษาเบื้องต้น พบว่าการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในวิธีเจรจากับเอกชนรายเดิมผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นวิธีการที่คุ้มค่ามากที่สุด เนื่องจากโมเดลที่ศึกษาไว้ประเมินว่าการมีเอกชนเดินรถรายเดียวจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อระบบ อีกทั้งยังทำให้สามารถคุมต้นทุนได้มากกว่าการมีเอกชนเดินรถสองราย ซึ่งเมื่อต้นทุนไม่สูงก็จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง

ทั้งนี้ รูปแบบการเดินรถไฟฟ้า รฟม.คำนึงถึงบริการผู้โดยสารเป็นอันดับแรก ดังนั้นการมีเอกชนเดินรถรายเดียวจะทำให้สะดวกมากกว่า ซึ่งรูปแบบก็จะไม่ต่างไปจากสายสีน้ำเงินหรือสายสีเขียว ที่ทำให้ผู้โดยสารเดินทางต่อระบบสะดวก โมเดลที่ทำมาจึงมองว่าควรเจรจากับเอกชนรายเดิม เพื่อเข้ามาเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ด้วย

สำหรับ รูปแบบของการร่วมลงทุนเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ หากรัฐบาลต้องการสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ก็มีโอกาสที่จะเปิดร่วมทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost เหมือนรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ ที่ทางภาครัฐเป็นผู้รับความเสี่ยง กรรมสิทธิ์จัดเก็บรายได้จะยังเป็นของภาครัฐ ส่วนเอกชนจะเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าผ่านทาง และภาครัฐจะจ่ายค่าตอบแทนให้ตามสัญญา

ข้อดีของการจัดทำ PPP Gross Cost จะจูงใจเอกชนร่วมลงทุนมากกว่า เพราะไม่ต้องใช้วงเงินลงทุนจำนวนสูง ในขณะเดียวกันภาครัฐยังเป็นเจ้าของกรรรมสิทธิ์จัดเก็บรายได้ ทำให้สามารถคุมราคาค่าโดยสารให้เหมาะสม อย่างไรก็ดี หาก ครม.มีมติให้เจรจากับเอกชนรายเดิมเข้ามาบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ จะต้องเริ่มขั้นตอนเจรจาภายในปี 2569 หรือก่อนงานโยธาแล้วเสร็จ 3 ปี ซึ่งเบื้องต้น รฟม.ประเมินว่างานโยธาจะแล้วเสร็จภายในปี 2571 เพื่อเปิดบริการในปี 2572

นายภคพงศ์กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง ระยะทาง 23 กม.มี 6 สัญญาผู้รับจ้าง เข้าพื้นที่หมดแล้ว ปัจจุบันการก่อสร้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มีความคืบหน้าร้อยละ 18.68 (แผนงาน ร้อยละ 10.25) เร็วกว่าแผน ร้อยละ 8.43

*เร่งเคลียร์พื้นที่ก่อสร้างสายสีม่วงใต้

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม พร้อมด้วย นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) บริเวณ สถานีสามยอด และสถานีวงเวียนใหญ่ ซึ่งสืบเนื่องจากที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการเสนอญัตติตั้งกระทู้ถามในประเด็นพื้นที่การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงกระทบต่อการเดินทางของประชาชน โดยมี นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมลงพื้นที่

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หลังจากที่มีกระทู้ สอบถามเรื่องการแก้ปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ได้มอบหมายให้นายภคพงศ์ มีหนังสือแจ้งถึงผู้รับเหมาให้รีบดำเนินการปรับปรุงการดำเนินการ ซึ่งยืนยันว่า ฝ่ายบริหารจะไม่ลอยตัวเหนือปัญหา ได้มีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความเดือดร้อน และข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่

ปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้างจากการจราจร บริเวณ สถานีสามยอด และสถานีวงเวียนใหญ่ นั้น รฟม.ได้รายงานว่า ถนนมีขนาดด้านละ 3 ช่องจราจร รวมไปกลับ 6 ช่องจราจร เครื่องจักรขนาดใหญ่ต้องใช้พื้นที่ทำงาน จึงจำเป็นต้องกั้นผิวจราจร 2 ช่อง ทำให้เหลือด้านละ 1 เลน แต่เป็นช่วงๆ ที่เป็นจุดก่อสร้างสถานี โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้างกำแพงกันดินประมาณ 1 ปี สำหรับ จุดก่อสร้างสถานีสามยอด และสถานีวงเวียนใหญ่ ซึ่งมีระยะการปิดกั้นผิวจราจรระยะทางยาว 200 เมตร กว้าง30 เมตร เพื่อสถานีใต้ดิน ซึ่งมีความลึกลงไป 30 เมตร ตามแผนงานก่อสร้างผู้รับเหมาจะทยอยคืนพื้นผิวจราจรกลับไปเท่าเดิมได้ในเดือนส.ค. 2567 หรืออีกประมาณ 9 เดือนหลังจาก ซึ่งจะเข้าสู่การทำงานในพื้นที่ใต้ดิน

ทั้งนี้ ตนได้ให้นโยบายพิจารณาวิธีการทำงานเพื่อเร่งรัดให้เร็วขึ้นกว่า 9 เดือน เช่น เพิ่มเวลาการทำงานที่ประชาชนให้การยอมรับ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับ ผลกระทบด้านอื่นด้วย และการอนุญาตก่อสร้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร(กทม.) อนุญาตให้ก่อสร้างถึงเวลา 22.00 น. เป็นต้น อีกทั้ง รฟม.กังวลถึงผลกระทบด้านเสียงและแรงสั่นสะเทือนหากต้องทำงานตอนกลางคืนที่จะกระทบต่อการพักผ่อนของประชาชน ซึ่งได้ฝากสส.ในพื้นที่ประสานทำความเข้าใจประชาชน หากเจรจาแล้วประชาชนยอมรับได้ก็เพิ่มเวลาทำงานได้

“ได้ให้การแก้ปัญหาสายสีม่วง ใช้เป็นโมเดลในการแก้ปัญหาในการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกโครงการที่ต้องเร่งคืนผิวจราจรให้เร็วที่สุด และยืนยันรัฐบาลพร้อมแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้พบว่า ถนนลาดพร้าว รถไฟฟ้าสายสีเหลืองเปิดให้บริการแล้วแต่ยังคืนผิวจราจรไม่ครบทั้งหมด ซึ่งได้ให้ผู้ว่าฯรฟม.ทำแผนไทม์ไลน์การดำเนินการให้ชัดเจน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูล”

ทั้งนี้ ในระหว่างตรวจพื้นที่ก่อสร้างได้มีประชาชนเข้าร้องเรียนกรณีได้รับผลกระทบบ้านเรือนเกิดรอยร้าว ประชาชน ผลกระทบ 20 กว่าหลังคาเรือน จากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง -ท่าพระ บริเวณสถานีสามยอด ซึ่งนายสุรพงษ์กล่าวว่า เรื่องการดูแลเยียวยาประชาชนทีได้รับผลกระทบนั้น รฟม.มีกฎระเบียบที่ต้องปฎิบัติ มีหลักเกณฑ์ทั้งด้านค่าเวนคืน ค่าชดเชย กรณีที่ไม่ยอมรับกัน จำเป็นต้องตั้งคนกลางขึ้นมาช่วยพิจารณาหาข้อตกลงร่วมกัน

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รฟม. และรมต.คมนาคมฝ่ายบริหารตอบสนองประเด็นจากสภาอย่างดี ซึ่งประเด็ฯที่การก่อสร้างในพื้นผิวจราจร ของหลายหน่วยงานราชการ ควรมีการนำแผนมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อตั้งงบประมาณก่อสร้างไปพร้อมกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขุดถนนตลอดเวลา หรือก่อสร้างล่าช้าอีกต่อไป

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯรฟม. กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน จะขุดเปิดหน้าดินเฉพาะตำแหน่งสถานีและทางขึ้นลงเท่านั้น โดยจะมีงานก่อสร้างหลัก คือ งานก่อสร้างผนังสถานีใต้ดิน (Guide Wall) ก่อน จากนั้นจะขุดอุโมงค์ใต้ดิน และทำการปูผิวจราจรชั่วคราวเพื่อคืนผิวถนนให้ประชาชนก่อน แต่ในการก่อสร้างก่อสร้างรถไฟฟ้า จะมีหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา เข้ามาเกี่ยวข้อง มีการรื้อย้ายท่อประปา และสายไฟฟ้าลงดิน ซึ่งต้องประสานการทำงานร่วมกัน

ส่วนกรณีรถไฟฟ้าสายเหลือง ก่อสร้างโครงการเสร็จแล้วแต่ยังไม่สามารถคืนผิวจราจรไม่ได้ เนื่องจากต้องรองานของการไฟฟ้า ที่มีโครงการขยายระบบจ่ายไฟฟ้าและนำสายไฟฟ้าลงดิน รวมถึงประปาด้วย ซึ่งยังไม่เสร็จ ดังนั้น รฟม.ต้องรอให้ทั้งไฟฟ้า ประปา ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะดำเนินการได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 66)

Tags: , , , , ,