รฟท.ปรับแบบรถไฟไทย-จีนช่วงโคกกรวด-นครราชสีมาแก้ปัญหาล่าช้า ยันสร้างสถานีอยุธยาจุดเดิม

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รฟท.ได้เร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมาระยะทาง 250.77 กม. มีวงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาทโดยแบ่งเป็นค่างานโยธา 14 สัญญา ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 11 สัญญา ส่วนอีก 2 สัญญาที่ยังไม่ได้ลงนาม ซึ่งกรณี สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา มีประเด็นประชาชนในพื้นที่ ต.บ้านใหม่ จ.นครราชสีมา เรียกร้องให้ปรับรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ จากแบบเดิมที่เป็นทางระดับดิน โดยที่ผ่านมา รฟท.ได้หารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง และได้สรุปใช้ทางเลือกที่ 4 คือเป็นทางยกระดับ ซึ่งมีวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มกว่า 4 พันล้านบาท แต่ยังอยู่ในกรอบวงเงินรวม 1.79 แสนล้านบาท และต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มประมาณ 2 ปี

ทั้งนี้ได้เสนอรายงานหารือไปยังกระทรวงคมนาคม พิจารณารับทราบแนวทางแล้ว หลังจากนี้จะชี้แจงและทำความเข้าใขกับประชาชนอีกครั้ง และเร่งนำเข้าเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ภายในเดือนมี.ค. 67 เพื่อขออนุมัติการปรับแบบและแก้ไขเปลี่ยนแปลง (Voriation Order : VO ) เป็นงานเพิ่มเติมและขอเพิ่มกรอบวงเงินในสัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมาต่อไป ซึ่งไม่ต้องเปิดประมูลใหม่

นายนิรุฒกล่าวถึงกรณีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีข้อสังเกต เรื่องการศึกษา รายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก หรือ Heritage Impact Assessment (HIA) การก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ในสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้วว่า รฟท.จะเร่งส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้สผ. ซึ่งข้อสังเกต เรื่องแนวทางอื่นๆ นั้น ต้องยืนยันว่า เมื่อปี 2559 รฟท.ได้มีการพิจารณาไว้ 5 แนวทางและได้มีการเลือกแนวทางที่ดีที่สุด มาดำเนินการศึกษารายละเอียด เพราะหากจะศึกษารายละเอียดทั้ง 5 แนวทาง จะมีค่าใช้จ่ายสูงและเสียเวลาเพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อสผ.ต้องการรับทราบแนวทางอื่นรฟท.จะสรุปไปให้ สผ.รับทราบ เพราะเป็นข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้ว

สำหรับความเห็นที่ให้เปลี่ยนแนวเส้นทาง จะทำให้โครงการเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากจะต้องศึกษาและวางแนวเส้นทางใหม่ และมีการเวนคืน ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นไปไม่ได้ หรือความเห็นให้ขุดอุโมงค์ทางวิ่งใต้ดินนั้น มีประเด็นปัญหาหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วม ทำให้แนวทางการยกระดับเส้นทางและสถานีเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ตอนนี้ โครงการก่อสร้างคืบหน้าไปมากแล้วและแนวทางที่รฟท.ศึกษาออกมานั้น เป็นไปตามขั้นตอนและไม่มีอะไรผิดกฎหมาย ส่วนข้อเสนอเปลี่ยนแนวเส้นทางเป็นความคิด ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อโครงการมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท ที่กำลังเดินหน้า

“กรณีย้ายสถานี ไปอยู่ที่บ้านม้า ซึ่งโครงการยังอยู่ในแนวเส้นทางเดิม รฟท.ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่มีรถไฟความเร็วสูงที่ไหน ไปจอดรับส่งที่กลางทุ่งนา ไกลชุมชนถึง 7 กม. ที่ผ่านมา ได้ปรับสถานีให้เล็กลงและปรับโครงสร้างทางให้ต่ำลงแล้ว ซึ่งเรื่อง HIA ไม่ได้มีผลบังคับทางกฎหมาย เราได้ทำตามที่มีข้อคิดเห็น”

สำหรับในส่วนของการก่อสร้าง ผู้ว่าฯรฟท.กล่าวว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะไม่มีปัญหา โดย สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม.นั้น อยู่ระหว่างเตรียม ลงนามสัญญา กับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด เป็นผู้รับจ้างวงเงิน 10,325 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างทางวิ่งไปก่อน ซึ่งทางเอกชน ยืนราคาถึงสิ้นเดือนก.พ.2567 อยู่ระหว่างการพิจารณาภายในของเอกชน หากยังไม่สามารถลงนามได้ทันภายในก.พ.นี้ ยังสามารถเจรจาเพื่อขยายการยืนราคาต่ออีก 1 เดือน ทั้งนี้ยอมรับว่า หากเอกชนไม่ยืนราคา รฟท.ก็ต้องเปิดประกวดราคาใหม่ ซึ่งต้องทำราคากลางใหม่ นอกจากค่าก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นแล้วยังเสียเวลาอีก

“รฟท.พยายามผลักดัน เพื่อให้เริ่มก่อสร้างทางวิ่งในส่วนของสัญญา 4-5 ก่อน ส่วนสถานีอยุธยายังมีเวลาพิจารณารับฟังความเห็นและรอเรื่องมรดกโลกให้ได้ข้อยุติได้ เพราะไม่ต้องการให้โครงการล่าช้าไปกว่านี้ เพียงแต่สุดท้าย จะให้แวะสถานีอยุธยา หรือให้วิ่งผ่านไปเลยก็เท่านั้นเอง เราสร้างทางวิ่ง ไม่รอสรุปสถานี เพราะไม่รู้ปลายทางจะไปจบตรงไหน ซึ่งโครงการมี 6 สถานี คือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ,สถานีดอนเมือง, สถานีอยุธยา,สถานีสระบุรี, สถานีปากช่อง, สถานีนครราชสีมา หากยังไม่มีสถานีอยุธยา ก็วิ่งผ่านไปก่อน”ผู้ว่าฯรฟท.กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.พ. 67)

Tags: , ,