รธน.ใหม่ส่อไม่ทันรัฐบาลนี้ กมธ.ประชามติชงรายงานส่ง 2 สภา คาดนัดถกกลางธ.ค.

นายนิกร จำนง เลขานุการกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ แถลงว่า ที่ประชุม กมธ.ได้ประชุมนัดสุดท้าย โดยสรุปรายงานกมธ.ร่วมฯ เห็นชอบกับร่างกฎหมายประชามติของวุฒิสภา (สว.) ที่ให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ คือ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง และมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง

โดย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. ในฐานะประธานกมธ. ได้ลงนามในรายงานฉบับนี้แล้ว และจะเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาภายในวันนี้ โดยเบื้องต้นทราบว่า สว.จะนำเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 17 ธ.ค. ขณะที่ สส.จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 18 ธ.ค.

ดังนั้น หลังจากนี้จะขึ้นอยู่กับความเห็นของทั้ง 2 สภา เชื่อว่า สส. และ สว. จะยืนยันจุดยืนตัวเอง ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ จะถูกแขวน 180 วัน จากนั้นหาก สส. ยังยืนยันในหลักการของตัวเอง จึงประกาศบังคับใช้ได้

นายนิกร กล่าวว่า หากแก้ทั้งฉบับเชื่อว่าจะไม่ทันในสมัยประชุมสภาฯ ชุดนี้แน่ เพราะนอกจากต้องรอ 180 วันแล้ว ยังต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องอีก 1 เดือน จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ขณะที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะต้องเชิญ กกต. และสำนักงบประมาณมาหารือ ว่าจะใช้งบประมาณทำประชามติจำนวนเท่าใด เพื่อส่งให้ ครม.ลงมติ จึงเข้าสู่ขั้นตอนทำประชามติ รวมแล้วใช้เวลาเกือบปี คาดว่าจะทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญได้ช่วงปลายเดือนธ.ค.68 ถึงต้นเดือนม.ค.69 จึงจะได้แก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทันรัฐบาลชุดนี้

ส่วนการทำประชามตินั้น มองว่าต้องทำ 3 ครั้งในการแก้รัฐธรรมนูญ แม้จะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็มีเวลาไม่มาก อาจต้องขอเวลาคุยกับ สว.ให้การแก้ไขเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงต้องการให้รัฐบาลมีร่างหลักในการแก้รัฐธรรมนูญในนามพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปในทางเดียวกัน

ด้านนายกฤช เอื้อวงศ์ โฆษกกมธ. กล่าวว่า หากทำประชามติ 3 ครั้ง เคยประมาณคร่าว ๆ ว่าจะใช้เวลา 2 ปี จะพ้นระยะเวลาสภาฯ ชุดนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดช่วงเวลานี้จะมี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากทำประชามติ 2 ครั้ง เวลาจะสั้นลงอย่างน้อย 180 วัน อาจทันอายุสภาชุดนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้คำตอบสุดท้ายต้องทำประชามติกี่ครั้ง ส่วนการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 จะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วย หากไม่ได้รับความเห็นชอบ ก็จะไปสู่ทางตัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ธ.ค. 67)

Tags: ,