สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันอังคาร (24 ก.ย.) รถไฟสินค้าห่วงโซ่ความเย็น ซึ่งบรรทุกองุ่นสดจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนจำนวน 463.5 ตัน เริ่มออกเดินทางจากด่านบกนานาชาติอุรุมชี ผ่านด่านโม๋ฮันในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในที่สุด นับเป็นครั้งแรกที่มีการส่งออกองุ่นสดของซินเจียงไปยังต่างประเทศ ผ่านการขนส่งด้วยรถไฟสินค้าห่วงโซ่ความเย็น ซึ่งเป็นช่องทางโลจิสติกส์ใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงของซินเจียง ในการเข้าถึงกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต
เพื่อให้ขนส่งผ่านรถไฟสินค้าห่วงโซ่ความเย็นของซินเจียงดำเนินไปอย่างราบรื่น สำนักงานศุลกากรอูชางจึงให้บริการพิธีการศุลกากรที่รวดเร็ว โดยส่งเสริม “การลงนามในระบบคลาวด์” ในขั้นตอนการตรวจพืชผักและรับใบรับรองด้านสุขอนามัย ตลอดจนจัดตั้งช่องทางด่วนสำหรับการตรวจสอบผักสดและผลไม้ท้องถิ่น รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารที่เน่าเสียง่าย เพื่อรับรองคุณภาพขององุ่นและบริการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้สำนักงานฯ ยังประสานงานกับแผนกรถไฟด้านการจัดหาตู้คอนเทนเนอร์เย็น เพื่อให้มั่นใจว่าองุ่นที่ส่งออกจะยังมีความสดใหม่และส่งได้ตรงเวลา
โจว ข่าย ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ซินเจียง จิ่วติ่ง อกริคัลเจอร์รัล เดเวลอปเมนต์ อินเวสเมนต์ กรุ๊ป จำกัด (Xinjiang Jiuding Agricultural Development&Investment Group Co., Ltd) เปิดเผยว่าในอดีต องุ่นสดของซินเจียงส่วนใหญ่จะมีการส่งออกไปยังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการขนส่งทางถนนเป็นล็อตเล็กๆ หลายๆ ล็อต และมักจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศและสภาพถนน ทั้งยังมีค่าขนส่งที่สูงและใช้เวลานาน แต่ในปัจจุบันสามารถส่งออกองุ่นได้มากขึ้นในคราวเดียวด้วยการรวบรวมสินค้าจากแหล่งกำเนิดและการส่งออกผ่านรถไฟสินค้าห่วงโซ่ความเย็น จึงส่งได้ในปริมาณมากขึ้นและมีต้นทุนต่ำลง ทั้งยังส่งองุ่นเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ไวขึ้น
หลู่ว์ เสวียหนง รองผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรอูชางระบุว่าสำนักงานฯ จะเดินหน้าปรับปรุงระบบเครือข่ายโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน สำหรับสินค้าเกษตรในเขตนำร่องการค้าเสรีจีน (ซินเจียง) ต่อไปผ่านวิธีการข้างต้น และจะบูรณาการเข้ากับกลุ่มพันธมิตรของระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor) เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรเฉพาะถิ่นของซินเจียงสู่ตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ผู้สื่อข่าวพบว่ารถไฟขบวนดังกล่าวจะนำผลไม้เมืองร้อน เช่น กล้วยและทุเรียนจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมาด้วยในขากลับ จึงมีการบรรทุกสินค้าทั้งขาไปและขากลับ ลดต้นทุนการขนส่งได้อย่างมาก และสร้างช่องทางการนำเข้า-ส่งออกแบบสองทิศทางแก่ผลไม้ของซินเจียงและผลไม้เมืองร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ช่วงต้นเดือนมิ.ย.ปี 2567 บริการรถไฟขนส่งระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่ ที่เป็นการร่วมมือกันของซินเจียงและฉงชิ่ง ได้ออกเดินทางจากด่านบกนานาชาติอุรุมชี วิ่งผ่านฉงชิ่ง ก่อนจะส่งสินค้าไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นการเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าสายใหม่ให้แก่ซินเจียง
ซินเจียงเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชวงศ์แตงที่มีชื่อเสียง เนื่องจากอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนนั้นแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งยังมีแสงแดดเพียงพอ และยังเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่มีรสหวานและมีคุณภาพสูง เช่น แอปริคอต, พีช, องุ่น, พลัม และแอปเปิล ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ โจว ข่ายเสริมด้วยว่า ในเดือนพ.ค.ปีนี้ บริษัทฯ ได้เปิดช่องทางโลจิสติกส์แบบเย็นจากอุรุมชีไปยังเมืองอัลมาตีของคาซัคสถาน ทำให้ผักและผลไม้จากจีนถูกส่งถึงผู้บริโภคชาวเอเชียกลางได้ภายใน 24 ชั่วโมง โดยในอนาคตบริษัทฯ จะกำหนดช่วงเวลาเดินรถของบริการโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นอุรุมชี-กรุงเทพฯ ตามความต้องการของตลาด เพื่อขนส่งผลไม้เฉพาะถิ่นจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่จีนและบรรดาประเทศในเอเชียกลางผ่านเส้นทางหลักทางบกได้มากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ย. 67)
Tags: XINHUA, รถไฟสินค้า, อุรุมชี-กรุงเทพฯ, โลจิสติกส์