ยังไงกัน! กฤษฎีกา โต้หนังสือสอบถามพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านยังมาไม่ถึงหลังถูกครหาทำงานช้า

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันว่าคณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่ได้รับหนังสือจากกระทรวงการคลังสอบถามเรื่องการตีความข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากวานนี้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ระบุว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังตีความอยู่

นายปกรณ์ กล่าวว่า วันนี้ได้สอบถามนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะกรรมการชุดใหญ่ และประธานคณะอนุกรรมฯ ถึงการทำหนังสือของกระทรวงการคลังถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะที่ผ่านมากลับมีข่าวออกมาว่าหนังสือส่งมาตั้งแต่วันอังคารที่แล้ว จนถูกครหาว่าทำงานช้า ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีหนังสือส่งมาที่กฤษฎีกา

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนที่ถูกต้องภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการเงินดิจิทัลชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการในที่ประชุม ทำหนังสือสอบถามมาคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับข้อกฎหมายและเงื่อนไขต่าง ๆ ในการกู้เงินว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ติดขัดข้อกฎหมายตรงไหน ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการรอหนังสืออย่างเป็นทางการ ยังไม่ได้ไปถึงขั้นยกร่างกฎหมายออกมาเป็น พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

เมื่อกระทรวงการคลังส่งหนังสือที่เป็นคำถามต่าง ๆ มาให้คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามปกติ ไม่มีการตั้งกรรมการชุดพิเศษ ทุกอย่างจะเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเข้าเงื่อนไขก็สามารถทำได้ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็ทำไม่ได้ หากสามารถทำได้ก็ยกร่างกฎหมาย และเสนอให้ที่ประชุมชุดใหญ่พิจารณาอีกครั้ง ถือว่าเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

“อยากให้เข้าใจว่าตอนนี้ยังไม่ได้มีการเสนอมาเป็นร่างกฎหมาย แต่จะส่งเป็นคำถามมาก่อนว่า ถ้าครบเงื่อนไขทำได้หรือเปล่าเท่านั้น และตอนนี้ก็ยังรออยู่ และก็ได้รับการยืนยันจากรมช.จุลพันธ์ว่า กำลังดูอยู่ และคงต้องสอบถามไปที่กระทรวงการคลัง” เลขาฯกฤษฎีกา กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคำถามจะยังมาไม่ถึงแต่เจ้าหน้าที่กฤษฎีกาได้ติดตามข่าวสารและตรวจสอบกฎหมายสำคัญ ๆ หลายฉบับไว้บ้างแล้ว คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน, พ.ร.บ.เงินคงคลัง, พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ, พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ และ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ เป็นต้น และสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศด้วยโดยจะดูว่าเข้าเงื่อนไขตรงไหน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 66)

Tags: , , , , ,