นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่ง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ว่า มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่
โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 223 ตอนอำเภอนาแก-บ้านต้อง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ของกรมทางหลวง เป็นทางหลวงในแนวตะวันตก-ตะวันออก เชื่อมต่อจังหวัดสกลนคร-นครพนม ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) และแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยได้มอบนโยบายให้เร่งดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญา และเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้โดยเร็ว รวมทั้งกำกับดูแลการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570
สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 223 ตอนอำเภอนาแก-บ้านต้อง จ.นครพนม ระยะทาง 11.411 กม. (กม.53+164.000-กม.64+575.000) งบประมาณก่อสร้าง 450 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปี 2568-2570
ส่วนอีกโครงการ เป็นการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำโขงนาคาวิถี ช่วงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (แห่งที่ 2) -พระธาตุพนม ของกรมทางหลวงชนบท ระยะทางรวม 43.485 กม. ซึ่งเป็นการยกระดับถนนเพื่อการท่องเที่ยว และเส้นทางชุมวิวทิวทัศน์เลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง มีความก้าวหน้า 82% เร็วกว่าแผน 2.018% ซึ่งได้มอบนโยบายให้กำกับดูแลการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการในปี 2570 กรณีประสบปัญหาในการดำเนินการ ให้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจและร่วมกันแก้ไขปัญหา ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการ
- จี้เปิดตามแผนปี 70 หลังโครงการรถไฟทางคู่ “บ้านไผ่-นครพนม” ยังอืด!
ส่วนของระบบราง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงินลงทุน 66,785.53 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพการขนส่งทางรางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมอบนโยบายให้เร่งรัดจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและส่งมอบพื้นที่โดยเร็ว รวมทั้งกำกับดูแลการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการในปี 2570 โดยขณะนี้โครงการมีความคืบหน้า 14.462% จากแผนงาน 50.066% ล่าช้า 35.604%
โครงการนี้มี 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วง บ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 177.50 กม. มีกิจการร่วมค้า เอเอส-ช.ทวี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 27,100 ล้านบาท เริ่มงานวันที่ 16 มี.ค.66 สิ้นสุดวันที่ 22 ก.พ.70 มีความคืบหน้า 26.139% จากแผนงาน 52.845% ล่าช้า 26.706%
ส่วนสัญญา 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 177.25 กม. มี บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 28,310 ล้านบาท เริ่มงานวันที่ 21 เม.ย.66 สิ้นสุดวันที่ 30 มี.ค.70 มีความคืบหน้า 3.286% จากแผนงาน 47.405% ล่าช้า 44.119%
“ปัญหาอุปสรรคที่ทำให้เกิดความล่าช้า เกิดจากการเวนคืนที่ดินไม่ได้ตามแผนงาน โดยขณะนี้ยังเวนคืนและเข้าพื้นที่ไม่ได้ 20% ทำให้งานก่อสร้างล่าช้า โดยเฉพาะสัญญาที่ 2 การก่อสร้างล่าช้าถึง 44% จึงให้ รฟท. หาแนวทางเร่งรัดการก่อสร้างให้กลับมาทันตามแผนงาน เพราะในการลงนามสัญญา จะมีกรอบว่าจะต้องส่งมอบพื้นที่เท่าไร ซึ่งจะมีพื้นที่ที่ส่งมอบแล้ว และเอกชนสามารถเข้าก่อสร้างได้ก่อน ไม่ใช่รอพื้นที่ที่ยังส่งมอบไม่ได้ แล้วอ้างเป็นเหตุว่างานล่าช้า” นายสุริยะ กล่าว
โครงการดังกล่าว จะเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่สามารถเชื่อมโยงไปยัง สปป.ลาว ประเทศเวียดนาม และภาคใต้ของประเทศจีน ที่ไม่เพียงแต่สนองนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ยังส่งเสริมการเป็นประตูการค้าสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่จะช่วยพัฒนาพื้นที่ในทุกมิติ สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
นายสุริยะ กล่าวว่า จากที่ได้ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ตอนบน 2 (สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และภาคเอกชน เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ และแนวทางการดำเนินงานจากทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในจังหวัดนครพนม และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีความสมบูรณ์ เชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลพื้นที่กลุ่มภาคอีสานตอนบน ได้จัดสรรงบกลางวงเงิน 200 ล้านบาท ช่วยพัฒนาพื้นที่เสริมสร้างแหล่งท่องเที่ยว
- ยังไม่รับข้อเสนอสร้าง “สนามบินมุกดาหาร” ชี้ลงทุนสูง
ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนเสนอให้ก่อสร้างสนามบินมุกดาหาร ซึ่งมีการลงทุนสูง และต้องศึกษาเรื่องความเหมาะสมและคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เอกชนก็เสนอให้ใช้สนามบินสะหวันนะเขตแทน แล้วส่งต่อผู้โดยสารกลับมาในประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ กระทรวงคมนาคมขอไปหารือกับกระทรวงการต่างประเทศก่อน
“เนื่องจากข้อเสนอนี้ไม่ชัดเจน ที่บอกว่าจะทำให้ค่าโดยสารถูกลง กรณีสายการบินราคาประหยัด (Low cost) ของไทยไปลงที่สนามบิน สปป.ลาวแล้วให้ผู้โดยสารข้ามแดนกลับมา ต้องเจรจาดูตัวเลขว่าถูกกว่าจริงหรือไม่ และในหลักการสามารถใช้สนามบินใกล้เคียง ที่มีทั้งที่สกลนคร และนครพนมได้” รองนายกฯ และรมว.คมนาคม ระบุ
สำหรับโครงการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 12 (R12) ช่วงเมืองท่าแขก-จุดผ่านแดนนาเพ้า สปป.ลาว (โครงการ R12) ระยะทางประมาณ 147 กม.ที่ ครม. มีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป.ลาว จำนวน 1,833 ล้านบาทนั้น นายสุริยะ กล่าวว่า จากการหารือในวันนี้ได้ขอความร่วมมือให้ สปป.ลาวใช้ผู้รับเหมาไทยตามเงื่อนไข เนื่องจาก สปป.ลาว ขอใช้ผู้รับเหมาจากสปป.ลาว เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องและรวดเร็ว ซึ่งโครงการดังกล่าวเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและการขนส่งสินค้าของทั้ง 2 ประเทศอย่างมาก จึงอยากให้ สปป.ลาว ทำตามเงื่อนไข เพื่อให้โครงการได้เริ่มต้นโดยเร็ว
“กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เดินหน้าพัฒนาการคมนาคมให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อส่งเสริมการเดินทางและการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น และเมื่อโครงการต่าง ๆ แล้วเสร็จจะสร้างประโยชน์สำคัญต่อประชาชนในพื้นที่ ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระยะยาว ทั้งการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และการค้า ช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม จากภาคอีสานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวในจังหวัดนครพนม และพื้นที่ใกล้เคียง และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน เพิ่มโอกาสการจ้างงานในภาคโลจิสติกส์ การค้าชายแดน และการพัฒนาพื้นที่จังหวัดนครพนม และภาคอีสานอย่างยั่งยืน” นายสุริยะ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 68)
Tags: คมนาคม, ทางหลวง, รถไฟทางคู่, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ