ยอดอุบัติเหตุสะสมสามวันแรก 7 วันอันตราย บาดเจ็บ 1,064 ตาย 114

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เมษายน 2566 เกิดอุบัติเหตุ 437 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 49 ราย ผู้บาดเจ็บ 448 คน สถิติอุบัติเหตุสะสม 3 วัน (11-13 เมษายน 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,055 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 114 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,064 คน

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยถึงสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ว่า เกิดอุบัติเหตุ 437 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 49 ราย ผู้บาดเจ็บ 448 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด 37.3% ดื่มแล้วขับ 29.29% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 79.51% ส่วนใหญ่เกิดบนถนนใน อบต./หมู่บ้าน 37.76% ถนนกรมทางหลวง 35.24% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 17.01 – 18.00 น. โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (19 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (19 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (3 ราย)

สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 3 วัน (วันที่ 11 – 13 เมษายน 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,055 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 114 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,064 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (38 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (9 ราย) และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช (40 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 19 จังหวัด

นายบุญธรรม กล่าวต่อว่า หลายพื้นที่ยังคงเล่นน้ำสงกรานต์ และมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่สูง ศปถ.จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดปรับมาตรการ และวางแผนจัดตั้งจุดตรวจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เน้นดูแลถนนสายรองและเส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ โดยเพิ่มความเข้มข้นการปฏิบัติงานด่านชุมชน จุดตรวจ และจุดสกัดบนเส้นทางสายรองบริเวณสถานที่จัดงานสงกรานต์ตามประเพณีและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่

โดยกวดขันเป็นพิเศษในช่วงเวลาเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูง เพื่อคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และการขับขี่ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และรถกระบะบรรทุกเล่นน้ำเป็นพิเศษ ควบคู่กับการดูแลความปลอดภัยของพื้นที่จัดงานสงกรานต์และสถานที่ท่องเที่ยว พร้อมทั้งให้เข้มงวดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุและการเล่นน้ำที่ไม่ปลอดภัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 เม.ย. 66)

Tags: , , ,