ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีที่เปิดเผยในวันนี้ (7 ส.ค.) ระบุว่า ยอดส่งออกของเยอรมนีในเดือนมิ.ย. 2567 ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยสาเหตุมาจากความต้องการสินค้าที่ลดลงจาก 2 แหล่งสำคัญคือสหรัฐซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของเยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป
สำนักงานสถิติฯ รายงานว่า เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ยอดส่งออกสินค้าของเยอรมนีในเดือนมิ.ย.ลดลง 3.4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้มาก โดยนักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์เคยคาดการณ์ว่าอาจจะลดลงเพียง 1.5% เท่านั้น
ยอดเกินดุลการค้าระหว่างประเทศของเยอรมนีลดลงเหลือ 2.04 หมื่นล้านยูโร (2.23 หมื่นล้านดอลลาร์) จากเดิม 2.49 หมื่นล้านยูโรในเดือนพ.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.35 หมื่นล้านยูโร
ข้อมูลการค้านี้ส่งสัญญาณร้ายเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจเยอรมนี โดยในไตรมาสที่ 2/2567 เศรษฐกิจเยอรมนีได้หดตัวลง ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้ง เนื่องจากประเทศไม่สามารถฟื้นตัวได้หลังจากที่ต้องเผชิญกับปัญหาความต้องการจากต่างประเทศที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อที่สูง และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซบเซามาเป็นเวลาหลายปี
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีแสดงให้เห็นถึงสัญญาณเชิงบวก
นอกจากตัวเลขการค้าแล้ว สำนักงานสถิติฯ ยังรายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 1.4% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ยอดสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนเดียวกันนี้ก็ฟื้นตัวดีขึ้นมาก แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ยังเตือนว่าภาพรวมเศรษฐกิจเยอรมนียังคงน่าเป็นห่วงอยู่ดี
นายเยนส์-โอลิเวอร์ นิคลาช นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคาร LBBW ให้ความเห็นว่า การส่งออกไปยังสหรัฐซึ่งลดลงไปแล้ว 7.7% ในเดือนมิ.ย.เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อาจจะยิ่งแย่ลงไปอีก เพราะตอนนี้เศรษฐกิจสหรัฐเองก็เริ่มส่อแววอ่อนแอ
“สถานการณ์สำหรับอุตสาหกรรมส่งออกของเยอรมนียังคงน่าเป็นห่วง” นายนิคลาชกล่าวเสริม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ส.ค. 67)