ยอดขอรับส่งเสริมลงทุน Q1/66 แตะ 1.8 แสนลบ. พุ่ง 77% หลังโควิดคลี่คลาย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 397 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% และมีมูลค่าเงินลงทุน 185,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับคำขอส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีจำนวน 205 โครงการ มูลค่ารวม 154,414 ล้านบาท คิดเป็น 83% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ ขณะที่การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) มีจำนวน 77 โครงการ มูลค่ารวม 4,434 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นประเภทการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานหมุนเวียน 60 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 3,333 ล้านบาท

“ตัวเลขคำขอรับส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรก ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากสถานการณ์โควิดเริ่มผ่อนคลาย ประเทศผู้ลงทุนหลักกลับมาเปิดประเทศ ประกอบกับมีแนวโน้มการย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคำขอเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน และที่สำคัญ บีโอไอได้เริ่มประกาศใช้ยุทธศาสตร์ 5 ปี และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีนักลงทุนสนใจขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งการขอรับการส่งเสริมตามมาตรการ Smart and Sustainable Industry ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการยกระดับและปรับปรุงประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกิจการ” นายนฤตม์ กล่าว

สำหรับการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 128 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 101,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84% โดยจังหวัดที่มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ตามลำดับ ด้านการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่นิคมหรือเขตอุตสาหกรรมทั่วประเทศ มีจำนวน 114 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 122,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 313% โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน

ส่วนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในเดือน ม.ค.-มี.ค.66 มีจำนวน 211 โครงการ เพิ่มขึ้น 10% เงินลงทุน 155,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115% โดยเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุดกว่า 31,400 ล้านบาท เนื่องจากมีการขอรับการส่งเสริมโครงการใหญ่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 2 ได้แก่ สิงคโปร์ มีจำนวน 30 โครงการ เงินลงทุน 29,742 ล้านบาท โดยมีโครงการใหญ่ในกิจการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์จากบริษัทแม่สัญชาติแคนาดา 1 โครงการ เงินลงทุน 18,500 ล้านบาท และกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากบริษัทแม่สัญชาติจีน 1 โครงการ เงินลงทุน 6,400 ล้านบาท ขณะที่ประเทศจีน เป็นอันดับ 3 มีจำนวน 38 โครงการ เงินลงทุน 25,001 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 87%) และญี่ปุ่น เป็นอันดับ 4 มีจำนวน 53 โครงการ เงินลงทุน 24,771 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 147%)

“ตัวเลข FDI ในช่วงไตรมาสแรก มีโครงการลงทุนจากเกาหลีใต้ และสิงคโปร์เพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีโครงการใหญ่ที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่ในปีนี้ ขณะที่ตัวเลขการลงทุนจากจีน และญี่ปุ่น แม้จะอยู่ในอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ แต่ก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติที่เลือกใช้ไทยเป็นฐานผลิตสำคัญในภูมิภาคนี้” นายนฤตม์ กล่าว

นอกจากนี้ การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด ก็เพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยในไตรมาสแรก มีจำนวน 431 โครงการ เพิ่มขึ้น 25% เงินลงทุนรวม 123,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% เป็นสัญญาณที่ดีว่าในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จะมีเม็ดเงินลงทุนเกิดขึ้นจริงมากขึ้น

นายนฤตม์ กล่าวว่า นอกจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ที่ดึงดูดให้นักลงทุนย้ายฐานผลิตมายังประเทศไทยแล้ว บีโอไอยังได้มุ่งยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนระดับโลก โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ไทยที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ โดยบีโอไอได้จัดกิจกรรมเชื่อมโยงและจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ และผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศเป็นประจำตลอดทั้งปี โดยจะมีงานใหญ่ปีละครั้ง

ในปีนี้ บีโอไอได้ร่วมกับองค์กรพันธมิตรจัดงาน SUBCON THAILAND 2023 ระหว่างวันที่ 10-13 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตไทย ซึ่งปีนี้มีผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมมาร่วมออกงานกว่า 160 บริษัท มีบริษัทผู้ซื้อจากต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ และบริษัทผู้ซื้อรายใหญ่ในประเทศกว่า 20 บริษัท เกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจกว่า 8,500 คู่ ซึ่งคาดว่าการเจรจาดังกล่าวจะสร้างมูลค่าการซื้อขายชิ้นส่วนกว่า 20,000 ล้านบาท โดยตลอด 4 วัน มีผู้เข้าชมงานจำนวนกว่า 42,000 คน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ค. 66)

Tags: , ,