นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ว่า สถานการณ์แรงงานในภาพรวมดูดีขึ้น สังเกตจากผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่พบว่า แม้จะมีภาระหนี้เหมือนเดิม แต่มีการออมมากขึ้น สะท้อนว่าแรงงานระมัดระวังการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 52.1% ตอบว่า จะใช้จ่ายเท่าที่รายได้ที่หาได้ และ 25.5% ใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ที่หามาได้ ซึ่งดีกว่าปี 67
ทั้งนี้ สอดคล้องกับตัวเลขการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือน จากปี 67 ที่ยอดการผ่อนชำระหนี้ในระบบอยู่ที่ 7,503 บาท ส่วนในปี 68 เพิ่มขึ้นเป็น 7,858 กว่าบาท แต่ส่วนที่หายไป คือ หนี้นอกระบบ จากปี 67 ที่ 3,653 บาท ลดลงมาเหลือ 1,956 บาทในปี 68 ซึ่งทำให้ภาพรวมการชำระหนี้ลดลงจากปี 67 ที่ 9,295 บาท มาเหลือ 8,407 บาทในปี 68
“ตัวเลขดังกล่าว สอดคล้องกับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ลดลงเหลือ 89.4% และอาจเป็นภาพที่รัฐบาลมีการแปลงหนี้นอกระบบ เข้ามาอยู่ในระบบ เป็นจุดสังเกตแรกว่า แรงงานน่าจะมีสถานภาพทางการเงินที่ค่อย ๆ ดีขึ้น ขณะเดียวกัน กลุ่มนี้น่าจะได้เงินจากนโยบายแจกเงินหมื่น และอาจนำเงินไปชำระหนี้ หรือปรับปรุงคุณภาพชีวิต รวมไปถึงการมีนโยบายคุณสู้ เราช่วย” นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับตัวเลขการออมที่สูงขึ้นจากปี 67 ที่ 33.8% มาเป็น 38.6% ในปี 68 นั้น แสดงให้เห็นว่าแรงงานระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่มองว่าสถานภาพแรงงานดูดีขึ้น และยังไม่เห็นสถานการณ์ของความน่ากังวล อย่างไรก็ดี แรงงานยังมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี และระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย โดยแรงงานไม่ต้องการก่อหนี้เพิ่ม และต้องการการประคับประคองการเงินของตัวเอง
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างยังมองว่า การงานยังมีความมั่นคง เพราะนายจ้างยังไม่มีท่าทีว่าจะปรับลดคนงาน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขาดแคลนแรงงาน ต้องใช้แรงงานต่างด้าว 3-5 ล้านคน แต่ในอนาคต ลูกจ้างรายวัน มองว่ายังไม่แน่ใจ ชี้ให้เห็นว่ามองว่าเศรษฐกิจในอนาคตยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ทรัมป์ 2.0
ขณะที่เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างว่า ถ้าตกงานแล้วจะหางานใหม่ง่ายหรือไม่ พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งมองว่า การหางานใหม่ไม่ง่าย ซึ่งสถานการณ์ใกล้เคียงกับช่วงโควิด-19 ที่เศรษฐกิจดูไม่โดดเด่น แต่สถานการณ์ทรัมป์ 2.0 ยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย จึงทำให้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าเศรษฐกิจจะแย่ หรือจะเป็นอย่างไรต่อไป
- วันแรงงานปีนี้คึกคัก คาดเงินสะพัดเกือบ 2,200 ล้านบาท
จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในวันแรงงานปี 68 กลุ่มตัวอย่างมองว่า แรงงานน่าจะคึกคักกว่าปีก่อน แสดงให้เห็นว่า คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานน่าจะดีขึ้น จากการสำรวจมูลค่าการใช้จ่าย และจำนวนสินค้าที่ซื้อมีมากขึ้น เห็นการผ่อนคลายทางการเงินที่มากขึ้น และเป็นช่วงวันหยุดต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี มูลค่าการจับจ่ายใช้สอยยังไม่สูง คาดเม็ดเงินสะพัดอยู่ที่ 2,186 ล้านบาท ซึ่งขยายตัว 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ในปี 68 รัฐบาลตั้งประเด็นว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ แต่กระทรวงแรงงาน ยังไม่สามารถตกผลึก และประชุมไตรภาคีเรื่องขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศได้ ขณะที่นโยบายของทรัมป์ 2.0 ที่ชะลอการขึ้นภาษีตอบโต้ไป 90 วัน ซึ่งผู้ประกอบการยังไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ทรัมป์ 2.0 จะจบอย่างไร
“ไทยจะถูกเก็บภาษีอัตราเท่าไร เศรษฐกิจโลกอาจจะซึม ซบเซา การส่งออกอาจมีปัญหา ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นยังไม่ชัดเจน” นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้ความเห็นว่าไทยว่ายังมี room ในการลดดอกเบี้ย เพราะต้องการลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ และลดภาระต้นทุนของการครองชีพนั้น ดังนั้น ถ้ารัฐบาลปรับขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ หรือขึ้นไปอีกเกือบ 30 บาท คิดเป็น 7-8% จะเป็นการเพิ่มต้นทุน ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นทันที
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า การส่งออกที่มีความเสี่ยงจากทรัมป์ 2.0 และอาจทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้อย่างน้อย 1% ซึ่ง ม.หอการค้าไทย ประเมินว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจมากถึง 2% โดย IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยปีนี้จาก 2.9% เหลือ 1.8% ซึ่ง GDP ที่หายไปทุก ๆ 1% จะทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.1-0.2% หมายความว่า ถ้าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีผลกระทบในเชิงลบ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงจะทำให้เกิดการว่างงานมากขึ้น การจ้างงานน้อยลง และถ้ามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก ก็จะเป็นตัวเร่งให้นายจ้างต้องใช้เครื่องจักรทดแทน หรือลดการจ้างงานลง
“ข้อเสนอแนะ คือรัฐบาลควรฟังไตรภาคีจังหวัด และแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ ว่า สถานการณ์ตอนนี้ ขนาดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังถูกแนะนำให้ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างรวดเร็วและรุนแรง จะเป็นผลกระทบต่อแรงงานในท้ายที่สุด เพราะทำให้เกิดการว่างงานสูงขึ้น ดังนั้น ตอนนี้น่าจะมีการประคับประคองดูแลปรับขึ้นค่าแรงตามความเหมาะสมของไตรภาคีจังหวัด” นายธนวรรธน์ กล่าว
ขณะที่ทางฝั่งของลูกจ้าง จากการสำรวจยังเห็นว่า การขึ้นค่าแรงมีผลกระทบเชิงลบมากกว่าบวก จากความกังวลเรื่องกลัวจ้างแรงงานต่างด้าวแทน และกลัวราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น พร้อมมองว่าการปรับขึ้นค่าแรง ควรสอดคล้องกับค่าครองชีพด้วย
- ไทยอาจต้องกู้เงินเพิ่ม-ลดดอกเบี้ย
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ขณะนี้ยังไม่เห็นข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนในการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนว่าจะคลี่คลายจริงหรือไม่ ขณะที่สงครามทั้งรัสเซีย-ยูเครน และสงครามตะวันออกกลาง ก็ยังไม่มีท่าทีจบลง สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีความหวังว่า ปลายเดือนพ.ค. อาจเริ่มเห็นสถานการณ์ที่สหรัฐฯ อาจชะลอการขึ้นภาษีเฉพาะไปก่อน เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ยังไม่ได้มีการเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งเศรษฐกิจไทยมีกรอบขยายตัวต่ำกว่าเดิม 0.5-1% แต่ถ้าถูกขึ้นภาษีทันทีภายใน 90 วัน เศรษฐกิจไทยจะลดลงทันที 1.5-2.0%
ทั้งนี้ IMF ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยไปก่อนแล้วว่า เศรษฐกิจไทยจะลดลงอย่างน้อย 1% หรือเศรษฐกิจไทยเบื้องต้นจะโตในกรอบ 2% บวกลบ ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือมีโอกาสที่จะเกิดหนี้เสีย (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์สูงขึ้น และมีโอกาสที่จะหารายได้จากการดำเนินธุรกิจ หรือการทำกำไรจะลดน้อยลง
ดังนั้น ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดดอกเบี้ย เป็นสิ่งที่ IMF แนะนำสามารถดำเนินการได้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันพรุ่งนี้ (30 เม.ย.) เหตุผลเพราะเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนมี.ค. อยู่ที่ 0.84% ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และทิศทางในอนาคตเงินเฟ้อไม่น่าจะเกิน 1%
“สถานการณ์เช่นนี้ เหมาะสมในเชิงเหตุผลทางนโยบายในการมองถึงวินัยของการใช้นโยบายการเงินตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เพราะทิศทางในอนาคต มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะไม่ถึงกรอบ ขณะที่ค่าเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีทิศทางที่เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว
ขณะเดียวกัน หลังจากที่ ธปท. ลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง รวม 0.50% (รอบต.ค.67 และ ก.พ.68) แนวโน้มของการปล่อยสินเชื่อก็ยังไม่เกิดขึ้น ความกังวล NPL สูงขึ้นก็ยังคงอยู่ ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยภายใต้กรอบความเห็นของ IMF และลดทันที จึงเหมาะสมที่จะพยุงเศรษฐกิจไทย และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้บ้างเล็กน้อย ขณะที่การเก็บกระสุนนโยบายการคลังไว้ก่อน ในการดูว่าไทยจะเจอภาษีเฉพาะหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ IMF แนะนำ และน่าจะเป็นเหตุผลที่สอดคล้อง เพราะถ้าทุกประเทศเจอภาษีเฉพาะ ทั่วโลกจะช็อกเหมือนช่วงโควิด-19
ส่วนยังจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่นั้น มองว่า อาจจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจากปัจจุบันซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 70% โดยล่าสุดหนี้สาธารณะของไทย อยู่ที่ระดับประมาณ 65% ต่อจีดีพี ซึ่งถ้าไทยได้รับผลกระทบหนักจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐ เราอาจต้องใช้นโยบายการคลังเข้ามาช่วยในการกู้เงินเพิ่ม แต่ต้องเป็นนโยบายที่เฉพาะเจาะจง ทำให้เกิดการจ้างงาน และเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
พร้อมมองว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นแนวทางเดิมตามที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ อาจไม่เหมาะกับช่วงเวลานี้ ที่ประเทศต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจง สร้างความสามารถในการแข่งขัน สร้างการจ้างงาน ดังนั้น นโยบายเงินโอนในการกระตุ้นการบริโภค จึงไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ การคำนึงถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ จะต้องดูสถานการณ์ที่ชัดเจนว่าการเจรจากับสหรัฐฯ ผ่านหรือไม่ ต้องจ่ายภาษีเท่าไร และต้องดูสถานการณ์ทั่วโลกว่าเป็นอย่างไร ถ้าเศรษฐกิจเขาโตน้อยลง ก็มีผลต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของไทยด้วย
“สอดคล้องกับที่ IMF มองว่า ต้องเป็นนโยบายที่เฉพาะเจาะจง เป็นนโยบายที่มีเป้าหมายที่ทำให้เกิดการจ้างงาน และความสามารถในการแข่งขัน และไม่ควรเป็นนโยบายเงินโอน ส่วนนโยบายการเงินน่า จะเริ่มลดลงได้ เพราะถ้ารอไปถึงปลายเดือนมิ.ย. หรือประชุม กนง.ครั้งต่อไป อาจช้าเกินไป และสถานการณ์ย่ำแย่เกินไป เพราะเศรษฐกิจขาดแรงกระตุ้น…สรุปคือ จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในปัจจุบันเก็บกระสุนไว้ก่อน จึงทำให้นโยบายการเงินตอนนี้มีความสำคัญ ซึ่ง IMF มองว่าตอนนี้ควรใช้นโยบายการเงิน และหลังจากนั้น ค่อยใช้นโยบายการคลังประสาน” นายธนวรรธน์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 68)
Tags: ธนวรรธน์ พลวิชัย, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, วันแรงงาน, แรงงานไทย