ม.หอการค้าฯ ชี้กินเจปีนี้คึกคัก คาดเงินสะพัด 4.4 หมื่นลบ.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนช่วงเทศกาลกินเจ จำนวน 1,280 ตัวอย่าง ว่า คาดว่าเทศกาลกินเจในปี 66 จะมีเงินสะพัด หรือมูลค่าการใช้จ่ายโดยรวมราว 44,558 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 5.5% ที่มีเงินสะพัดราว 42,235 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 4,587.17 บาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว และเดินทางไปต่างจังหวัด)

“จากสถิติการใช้จ่ายส่วนบุคคลสูงสุดในรอบ 16 ปีตั้งแต่ทำการสำรวจมา (ปี 51) สะท้อนสัญญาณเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากท่องเที่ยวเริ่มมา และความคาดหวังต่อความเชื่อมั่นในอนาคตที่อาจดีขึ้น สอดคล้องดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 14 ในส่วนของมูลค่าการใช้จ่ายโดยรวม อัตราการขยายตัว 5.5% ถือว่าเติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 57 แต่วงเงินในการใช้ยังไม่กลับมาเมื่อเทียบกับก่อนโควิดปี 63 แต่ก็คึกคักขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว

จากการสำรวจว่าปีนี้ประชาชนจะกินเจหรือไม่ พบว่า ประชาชน 60.6% บอกว่าจะไม่กิน โดยให้เหตุผลว่า อาหารเจแพง เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ไม่ได้ตั้งใจจะกิน ส่วน 39.4% บอกว่าจะกินเจในปีนี้ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ตั้งใจทำบุญ รองลงมาคือเพื่อสุขภาพ ส่วนราคาอาหาร หรือวัตถุดิบในการปรุงอาหารเจ ปี 65 เทียบปี 64 ประชาชนมองว่า 57.1% แพงขึ้น และ 42.2% มองว่าเท่าเดิม ในส่วนของความคึกคักของเทศกาลกินเจปี 66 เทียบปี 65 ส่วนใหญ่มองว่าจะเท่าเดิม

“ผลโพลครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ปีนี้เศรษฐกิจฟื้น โดยจากการสำรวจพฤติกรรมการกินเจตั้งแต่ปี 51 คนจะกินหรือไม่กินเจ เนื่องจากความเชื่อความศรัทธา และการทำบุญ โดยในปี 63 ที่เป็นช่วงโควิด ช่วงนั้นจะเห็นคนตัดสินใจกินเจกินบางมื้อในสัดส่วนสูง เพราะไม่สะดวกและติดช่วงโควิด ส่วนปี 66 คนกลับมากินเจบ้างเป็นมื้อบ้าง ซึ่งมองว่าปีนี้คนไม่ได้เน้นการทำบุญ หรือเดินทางไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาก เลยตีความว่า ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีคนจะทำบุญเยอะ ดังนั้น จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจปีนี้ดีขึ้น ประชาชนจะซื้อของมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ และกลุ่มตัวอย่างตอบว่าคึกคักไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว” นายธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนในมุมมองของผู้ประกอบการ มองว่าส่วนใหญ่ลูกค้าซื้ออาหารเจผ่านเดลิเวอรี สะท้อนให้เห็นว่าไทยเริ่มก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมองว่า ผู้บริโภคจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น (โดยให้เหตุผลเศรษฐกิจดีขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ตามลำดับ) มากกว่าจะใช้จ่ายลดลง (โดยให้เหตุผลว่า ลดค่าใช้จ่าย เศรษฐกิจแย่ลง และมีหนี้สินมากขึ้น ตามลำดับ) ดังนั้น จึงตีความในเชิงกึ่งบวก ว่า เศรษฐกิจอยู่ในเงื่อนไขที่กำลังฟื้นขึ้น และดีขึ้นตามลำดับ

ทั้งนี้ เมื่อถามผู้ประกอบการถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ผู้ประกอบการ 50% คาด GDP ปี 66 ขยายตัว 2.51-3.00% ส่วนเศรษฐกิจปี 67 ส่วนใหญ่ตอบว่ายังไม่แน่ใจ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่องท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเข้าไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 66 ประมาณ 20 ล้านคน คาดช่วงไตรมาส 4/66 นักท่องเที่ยวควรเข้ามาประมาณ 2.5-3 ล้านคน/เดือน เป็นอย่างน้อย ดังนั้น มองว่าเป้านักท่องเที่ยวที่ 28-30 ล้านคน เป็นไปได้

ในส่วนของมาตรการฟรีวีซ่า ประชาชนมีความกังวลเล็กน้อย โดยกังวลมากเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจากมิจฉาชีพ และอาชญากร รองลงมาคือเรื่องการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ที่ระบาดและรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในเชิงบวกเชื่อว่าการท่องเที่ยวในจังหวัดจะดีขึ้น การจ้างงานดีขึ้น และเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น ส่วนความกังวลต่อเหตุการณ์ยิงกลางศูนย์การค้า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า จะส่งผลกระทบต่อการเดินทางเข้าท่องเที่ยวในระดับปานกลาง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,