ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จ.นครราชสีมา ในช่วงเช้าที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตซ เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลขอให้ยกเลิกแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโปแตซทั้งหมด พร้อมขอให้ประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับการพัฒนาเหมืองแร่โปแตซ และขอให้เร่งรัดตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่โปแตซในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โดยเร่งด่วน
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังรับข้อเรียกร้องจากผู้แทนเครือข่ายว่า แม้รัฐบาลจะมีนโยบายในการผลักดันการนำแร่โปแตซขึ้นมาใช้ประโยชน์ แต่ก็ให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
สำหรับโครงการเหมืองแร่ไทยคาลิ ได้รับประทานบัตรตั้งแต่ปี 2558 มีพื้นที่ประมาณ 9,005 ไร่ ต่อมาในปี 2562 มีการร้องเรียนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ ในประเด็นเรื่องดินเค็มทำการเกษตรไม่ได้ บ่อน้ำสาธารณะไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ ซึ่งที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อตรวจสอบในประเด็นผลกระทบที่ประชาชนได้รับหลายคณะ ทั้งในระดับจังหวัด และในระดับกรม มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายครั้ง ซึ่งผลการตรวจสอบในชั้นนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มาจากโครงการเหมืองแร่โปแตซและเกลือหินของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด โดยผลการตรวจสอบข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนที่การแพร่กระจายของคราบเกลือ พบว่าพื้นที่ดินบริเวณดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่มีความเค็มมาแต่เดิม
สำหรับประเด็นเรื่องแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 เป็นแผนที่มีการจัดทำและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2566-2570 นั้น ได้ผ่านการวิเคราะห์ทางวิชาการ การประชาพิจารณ์ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ และ ครม. เป็นไปตามขั้นตอนที่ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 กำหนดไว้
อย่างไรก็ดี ได้ทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเริ่มทบทวนแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ อีกครั้งในปี 2568 ซึ่งจะได้นำประเด็นข้อเรียกร้องต่าง ๆ รวมทั้งข้อเสนอในเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ไปประกอบในการทบทวนแผนดังกล่าวด้วย
“ขอยืนยันว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะกำกับดูแลการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซ ให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด พยายามนำทรัพยากรแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ในขณะเดียวกัน ก็พยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด โดยในการบริหารจัดการแร่ จะต้องคำนึงถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชนประกอบกันด้วย”
น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 67)
Tags: ครม.สัญจร, ประท้วง, พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล, ม็อบ, เหมืองโปแตช