การเสียชีวิตของผู้ใช้งานติ๊กต๊อก (TikTok) ชาวมาเลเซียได้กระตุ้นให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หรือ ไซเบอร์บูลลี่ (cyberbully) ให้เป็นอาชญากรรมและเพิ่มความรับผิดชอบให้แก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ราเจสวารี อัปปาฮู ถูกพบว่าเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ซึ่งเป็นเวลาเพียงหนึ่งวันหลังจากที่เธอแจ้งความกับตำรวจเกี่ยวกับการคุกคามผ่านช่องทางออนไลน์ที่เธอได้รับ ส่งผลให้มีบุคคล 2 รายยอมรับสารภาพต่อศาลข้อหากระทำความผิดเกี่ยวกับการสื่อสารเมื่อวันอังคาร (16 ก.ค.) โดยหนึ่งในนั้นถูกลงโทษปรับ 100 ริงกิต (21.40 ดอลลาร์)
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า อซาลินา ออธมาน รัฐมนตรีกระทรวงกฎหมายของมาเลเซียกล่าวว่า การสอบสวนและการดำเนินคดีเป็นเรื่องยากเนื่องจากมาเลเซียไม่มีกฎหมายที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการไซเบอร์บูลลี่ และเสริมว่า รัฐบาลจะพิจารณาข้อเสนอให้กำหนดนิยามของการไซเบอร์บูลลี่ และทำให้เป็นอาชญากรรมตามประมวลกฎหมายอาญา
ออธมานระบุในแถลงการณ์ว่า “การไซเบอร์บูลลี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ในมาเลเซีย และในแต่ละปี เราใจหายกับข่าวที่หลายคนถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ จนถึงขั้นจบชีวิตตัวเอง”
ออธมานกล่าวว่า รัฐบาลกำลังปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับข้อเสนอร่างกฎหมายเพื่อเพิ่มความรับผิดชอบให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตด้านความปลอดภัย โดยร่างกฎหมายใหม่นี้จะมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำงานร่วมกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้อย่างใกล้ชิด เพื่อคุ้มครองผู้ใช้งานออนไลน์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 67)
Tags: cyberbullying, TikTok, ติ๊กต็อก, มาเลเซีย, ไซเบอร์บูลลี่