มามุกเดิม! อ้าง “แฟลชเอ็กซ์เพรส” ส่ง SMS หลอกกดลิงก์ ตร.แนะข้อสังเกตุ

พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เตือนประชาชนอย่ารีบกดลิงก์ที่ส่งมาในโทรศัพท์มือถือ หลังตรวจพบคนร้ายเริ่มกลับมาใช้วิธีส่งลิงก์แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง Flash Express หลอกลวงประชาชน

โดยคนร้ายจะใช้ข้อความพร้อมแนบลิงก์ เช่น

– “Flash Express จัดส่งพัสดุให้ท่านไม่สำเร็จ กรุณาติดต่อเพื่อยืนยันการจัดส่งพัสดุอีกครั้ง www.flash.ersgo.com”

– “พัสดุของท่านที่จัดส่งโดย Flash Expess เสียหาย กรุณาติดต่อผ่านลิงก์ www.flash.lve-th.com”

– “Flash Express ไม่สามารถติดต่อท่านได้ กรุณาตรวจสอบละเอียด www.flash.nsrgo.com”

– “พัสดุ TH0412F3Y3C19 ของคุณไม่ได้รับการจัดส่งสินค้า กรุณายืนยันพัสดุของคุณอีกครั้ง ww.flash.srrth.com”

– “Flash Express ไม่สามารถติดต่อท่านได้ กรุณาตรวจสอบละเอียด : www.flash.lve-th.com”

– “FIash’ Expres พัสดุของคุณตกค้างและเกิดการเสียหายในการจัดส่ง กรุณายื่นเคลมค่าเสียหายหรือติดต่อฝ่ายบริการลูกค้า! www.flash.xrsgo.com”

– “Flash Express แคมเปญครบรอบ 5 ปี คุณได้รับคูปองส่วนลดน้ำมันมูลค่า 5,000 บาท คลิก www.flash.nsrgo.com” เป็นต้น

ถึงแม้ ตร.จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการระงับการเข้าถึงลิงก์ดังกล่าวแล้ว แต่เชื่อว่าในอนาคตจะมีการหลอกลวงในลักษณะนี้อีก โดยข้อความและลิงก์ที่แนบมาอาจมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยมีจุดสังเกตุดังนี้

– ลิงก์ที่คนร้ายส่งมามักจะสะกดชื่อผิด หรือมีข้อความที่ไม่ปกติต่อท้ายลิงก์

– Domain ของ Website ปลอมมักจะจดบน Domain Free หรือ Domain ที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น .cc

– SMS ปลอมในบางครั้ง คนร้ายจะใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อให้ส่ง SMS ปลอมเข้ามาอยู่ในกล่องข้อความของ SMS จริงได้

– เมื่อกดลิงก์เข้าไปจะเป็น Line หน่วยงานที่คนร้ายแอบอ้าง เมื่อเหยื่อเพิ่มเพื่อนคนร้ายในไลน์ คนร้ายจะโทรมาพูดคุยโน้มน้าวเหยื่อและส่งลิงก์ให้ติดตั้ง Application ควบคุมโทรศัพท์มือถือ ให้ติดตั้งในเครื่องเหยื่อ พร้อมให้ตั้งรหัสผ่าน 2 ชุดไม่ซ้ำกัน ซึ่งส่วนใหญ่เหยื่อมักจะเอารหัสเดิมๆ ที่เคยใช้ใน Application ธนาคารใส่ไปด้วย

วิธีป้องกัน

– ไม่กดลิงก์ใดๆ ที่ส่งมาใน SMS

– หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อ Flash Express ที่เบอร์ 1436 เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงของ SMS ที่ได้รับ

– ผู้ที่ได้รับ SMS แล้วน่าสงสัยว่าน่าจะหลอกลวง โปรดอย่ากดลิงก์ใน SMS ดังกล่าว และส่งข้อมูลดังกล่าวโดย Capture หน้าจอ SMS ที่ได้รับให้ครบถ้วนพร้อมระบุ วันที่ และเวลาที่ได้รับ SMS รวมไปถึงเบอร์โทรศัพท์ที่ได้ส่ง SMS มาให้ แจ้งเบาะแสผ่านทางช่องทาง www.thaipoliceonline.go.th (ช่องทางแจ้งเบาะแส) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 67)

Tags: , , , ,