ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทั้งปี 2567 จำนวนคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ จะอยู่ที่ประมาณ 193.5 ล้านคน-ครั้ง หรือเติบโต 4.4% จากปีก่อน ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ขยายตัว 9.6% (YoY)
สำหรับรายได้ท่องเที่ยวจากคนไทยเที่ยวในประเทศปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 8.7 แสนล้านบาท ขยายตัว 7.8% จากปีก่อน ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ขยายตัว 12.9% (YoY) ทั้งนี้ แม้รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดในปี 2562 เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายระหว่างการเดินทาง โดยจำนวนวันพักเฉลี่ย ลดลงเหลือ 2.1 วัน (จาก 2.46 วันในปี 2562) และการพักค้างมีสัดส่วนน้อยลงมาที่ 51% (จากค่าเฉลี่ยราว 57% ในปี 2562)
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันการท่องเที่ยวในประเทศยังสูง จากการที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในหลายจังหวัด ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยว และการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว การสร้าง Landmark เพื่อเป็นทางเลือกที่หลากหลายให้กับนักท่องเที่ยว ดังนั้นการเติบโตของการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ จะยังมีความไม่เท่ากัน
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 4 มิ.ย. 67 มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 67 ได้แก่
1. มาตรการหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา สำหรับค่าใช้จ่ายด้านบริการที่พัก (โรงแรม โฮมสเตย์และที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม) และค่าบริการนำเที่ยว จากการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองท่องเที่ยวรอง ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)
2.มาตรการหักลดหย่อนภาษีนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายการอบรมจัดสัมมนาในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวรอง สามารถนำมาหักได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง ขณะที่เมืองหลักนำรายจ่ายมาหักได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง
มาตรการฯ ดังกล่าว จะเป็นแรงหนุนการเดินทางท่องเที่ยวเมืองรองของคนไทยมากขึ้น โดยปัจจุบันคนไทยเที่ยวเมืองรองมีสัดส่วน 41% ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2567 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 และในหลายจังหวัด เช่น เชียงราย สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม นครพนม อุบลราชธานี เป็นต้น จำนวนนักท่องเที่ยวไทยกลับมาสูงกว่าปี 2562 แล้ว ขณะที่รายได้ไทยเที่ยวไทยในเมืองรอง มีสัดส่วนเร่งตัวขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผลบวกจากมาตรการฯ อาจไม่ได้หนุนการเดินทางและรายได้ตลาดไทยเที่ยวไทย ให้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนัก เนื่องจาก
1. มาตรการฯ ครอบคลุมกรอบเวลาช่วงฤดูฝนเป็นส่วนใหญ่ และสภาพอากาศมีความไม่แน่นอนสูง โดยสถานที่ท่องเที่ยว อย่างอุทยานแห่งชาติบางแห่ง ปิดให้บริการในช่วงนี้
2. ผู้ประกอบการในกลุ่มที่พักและบริษัทนำเที่ยว โดยเฉพาะขนาดเล็ก อาจมีความไม่พร้อมของระบบในการรองรับ e-Tax Invoice & e-Receipt
3. การตัดสินใจเดินทางของคนไทยในช่วงมาตรการฯ อาจคึกคักน้อยกว่า หากเทียบกับช่วงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ที่มีวันหยุดยาวและเทศกาลสำคัญอย่างตรุษจีน สงกรานต์ เป็นต้น ขณะที่กำลังซื้อครัวเรือนส่วนใหญ่ยังมีความเปราะบาง
4. การเลือกที่พักของคนไทย และการจัดงานสัมมนาส่วนใหญ่ ยังเน้นไปที่เมืองท่องเที่ยวหลัก โดยมักแวะเที่ยวเมืองรองในรูปแบบของการทัศนาจร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 67)
Tags: การท่องเที่ยว, มาตรการภาษี, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เมืองรอง