นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินระดับโลกอย่างมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) และโนมูระ โฮลดิงส์ (Nomura Holdings) ระบุว่า ไทยและอินเดียมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศว่าจะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้กับทุกประเทศที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์ระบุว่า สาเหตุที่ไทยและอินเดียตกเป็นเป้าหมายของมาตรการดังกล่าว เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าที่ทั้งสองประเทศเรียกเก็บจากสหรัฐฯ นั้น สูงกว่าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ขณะนี้ปธน.ทรัมป์ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของมาตรการดังกล่าว รวมถึงประเทศเป้าหมายและเกณฑ์ที่จะใช้พิจารณา
“ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชียเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงกว่าเมื่อเทียบกัน จึงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญมาตรการภาษีตอบโต้ที่สูงขึ้น และเราคาดว่าประเทศในเอเชียจะต้องเร่งเจรจากับปธน.ทรัมป์” โซนัล วารมา หัวหน้าทีมนักวิเคราะห์จากโนมูระ ระบุในรายงานถึงลูกค้า
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (7 ก.พ.) ปธน.ทรัมป์ประกาศแผนการใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ โดยอ้างว่าเพื่อให้สหรัฐฯ ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นแนวทางใหม่แทนการใช้มาตรการภาษีศุกลกากรแบบครอบจักรวาล หรือ Universal Tariffs โดยปธน.ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมในวันอังคารที่ 11 ก.พ. หรืออาจจะเป็นวันพุธที่ 12 ก.พ. และจะมีผลบังคับใช้เกือบทันที หรือในเวลาอันสั้น
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า อินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รายใหญ่ กำลังเร่งเจรจาเพื่อเพิ่มปริมาณการซื้อเชื้อเพลิงจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ ก่อนการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศในสัปดาห์นี้ ส่วนไทยกำลังพิจารณาซื้ออีเทน (ethane) และสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม นอกเหนือจากจำนวนเดิมที่วางแผนไว้สำหรับปีนี้
นักวิเคราะห์จากมอร์แกน สแตนลีย์คาดการณ์ว่า อินเดียและไทยอาจเผชิญกับการถูกปรับขึ้นภาษี 4% – 6% หากสหรัฐฯ ตัดสินใจบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ เพื่อลดความแตกต่างทางด้านภาษี พร้อมกับคาดการณ์ว่า อินเดียอาจแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ พลังงาน และเครื่องบินจากสหรัฐฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 68)
Tags: Morgan Stanley, ประธานาธิบดีสหรัฐ, ภาษีนำเข้าสินค้า, มอร์แกน สแตนลีย์, สหรัฐ, อินเดีย, โดนัลด์ ทรัมป์, ไทย