การประกาศขายทอดตลาดหุ้น บมจ.ไพร์ม โรด เพาเวอร์ (PRIME) ของผู้ที่นำมาจำนำทั้งหมด 6 ราย จำนวน 1,348,572,500 หุ้น กับ บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม(ประเทศไทย) (ZCOM) ในฐานะเจ้าหนี้ผู้ให้บริการบัญชีมาร์จิ้น ได้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้ และไม่สามารถชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
หากมองในแง่ของการบริหารจัดการของทาง ZCOM เอง ถือเป็นการเคลียร์ภาระผูกพันในส่วนของบัญชีมาร์จิ้นกับลูกค้า หรือผู้จำนำที่มีการให้เวลาเตรียมตัวล่วงหน้าพอสมควร
ก่อนหน้านี้ ย้อนไปช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2567 ทาง ZCOM ได้ประกาศยุติให้บริการบัญชีมาร์จิ้นทั้งหมด หรือหยุดให้บริการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหุ้น โดยกำหนดวันที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2567 อีกทั้งมีจดหมายแจ้งให้ลูกค้าที่ยังมีบัญชีมาร์จิ้นเหลือค้างอยู่ให้ติดต่อมาเพื่อปิดบัญชีก่อนวันครบกำหนด
จากวันที่ประกาศยุติปล่อยมาร์จิ้นคือ วันที่ 9 มิถุนายน จนถึงวันที่ประกาศขายทอดตลาดหุ้น PRIME ในวันที่ 13 ตุลาคม ถือเป็นระยะเวลา 4 เดือนเต็มที่ทาง ZCOM ให้ลูกค้าเข้ามาเคลียร์ทุกอย่างให้เรียบร้อย
โดยสาเหตุที่ทำให้ต้องปิดการให้บริการเฉพาะในส่วนของบัญชีมาร์จิ้นนั้นมีความเป็นไปได้ที่บริษัทอาจจะได้รับผลกระทบจากการปล่อยมาร์จิ้นหุ้นตัวอื่นๆ จึงทำให้ต้องลดความเสี่ยงลง
ที่ผ่านมา ทาง ZCOM มีเป้าหมายที่จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ต้องมีการขยายฐานรายได้ และสร้างการเติบโต ทำให้ต้องเปิดรับลูกค้าที่หลากหลาย และสุดท้ายก็ต้องเผชิญกับผู้จำนำที่หลากหลายเช่นกัน
ในอดีตเคยมีเคสคล้ายกันนี้ เป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยงที่มีการปล่อย Margin Loan หรือ Credit Balance ที่กระจุกตัวให้กับนักลงทุนรายใหญ่ คือ เคส หุ้น LIVE-IEC ตอนนั้นมีหลายบริษัทหลักทรัพย์เกิดความเสียหายและบางรายถึงขั้นต้องปิดกิจการ
แต่ปัจจุบันลักษณะดังกล่าวลดน้อยลง เพราะบริษัทหลักทรัพย์ปล่อยมาร์จิ้นนักลงทุนรายใหญ่น้อยลง แต่กลายเป็นไปกระจุกตัวอยู่ที่ “เจ้าของ” หรือ “ผู้ถือหุ้นใหญ่” ของบริษัทมากกว่า
ช่วงที่ผ่านมา ผู้ลงทุนคงเคยเห็นฤทธิ์เดชของ”เจ้าของกิจการ”ที่เอาหุ้นตนเองไปขอวงเงินมาร์จิ้นเพื่อมาสร้างราคาหุ้นตนเอง ก่อนที่จะใช้วงเงินมาร์จิ้นผลักดันให้ราคาหุ้นสูงขึ้นไปอีก เพื่อหวังว่าจะเอาหุ้นส่วนที่เหลือไปจำนำ “นอกระบบ” แล้วเอาเงินสดไปใช้ส่วนตัว
จนสุดท้ายปล่อยให้หุ้นตนเองถูกบังคับขาย (Force sell) ออกมา ซึ่งในเบื้องต้นมักจะ”ปฏิเสธ” ไม่รู้ไม่เห็น ถึงสาเหตุที่ราคาหุ้นปรับตัวลง จนถูกสืบสาวได้ว่า “มีหุ้นถูกบังคับขายออกมาจากการนำไปจำนำนอกระบบ”
และที่สำคัญ ที่เป็นความพีกที่สุด คือ เจ้าของเหล่านั้น ไม่มีแนวความคิด หรือเจตนาที่จะหาเงินไปรับหุ้นที่ถูก Force ออกมาเลย ปล่อยให้เละเทะ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกมากในฐานะที่เป็นเจ้าของและอ้างว่ารักบริษัท
ในอีกมุมหนึ่ง ก็มักจะบังเอิญว่า หุ้นที่ถูก Force sell ส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่องของงบการเงิน หรือปัญหาภายในองค์กร ในเวลาต่อมาให้เห็นอยู่บ่อยๆ
ปัจจุบัน ลักษณะของ “เกมหุ้น” แบบนี้ ถูกเปลี่ยนวิธีไปเรื่อยๆ จากเมื่อก่อน “นักลงทุนรายใหญ่” มาวันนี้เป็น “เจ้าของกิจการ” ตัวละครถูกเปลี่ยนไป แต่ผลลัพธ์ คนที่เสียหาย ยังคงเป็นสองกลุ่มเดิมที่ถูกกระทำ คือ “บริษัทหลักทรัพย์” กับ “นักลงทุนรายย่อย” นั่นเอง
เคสของ ZCOM ในวันนี้ คือ ตัวอย่างเหยื่อรายล่าสุดที่มีให้เห็นกัน
ธิติ ภัทรยลรดี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ต.ค. 67)
Tags: PRIME, SCOOP, ZCOM, จีเอ็มโอ-แซด คอม, ธิติ ภัทรยลรดี, มองมุมต่าง, หุ้นไทย, ไพร์ม โรด เพาเวอร์