ในหลายปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยประสบปัญหามากมายหลายด้าน หนึ่งในประเด็นหลักที่สำคัญ คือ สภาพคล่องถดถอย
“สภาพคล่อง” ที่แท้จริงแล้ว เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการลงทุน และอาจจะมีความสำคัญมากกว่าทิศทางของตลาดในระยะสั้นก็ว่าได้ เพราะเมื่อไม่มีสภาพคล่อง การลงทุนและการซื้อขายก็ไม่เกิด พัฒนาการของตลาดก็ถดถอยไปตามๆ กัน
หากอธิบายให้ง่าย สภาพคล่อง คือ หั่งเช้ง ที่จะบอกสภาวการณ์ความเป็นไปของตลาดในปัจจุบันนั่นเอง
ที่ผ่านมา ผู้เขียนพยายามให้ความรู้เรื่องสภาพคล่องตลาด ชวนให้คิดทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ออกมาปกป้องนักลงทุนรายย่อย มักจะมีผลต่อสภาพคล่องของตลาดในระยะยาวที่อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย
หลังๆ มานี้ น่าจะเริ่มมีคนให้ความสนใจ และเห็นความสำคัญของปัญหาเรื่องสภาพคล่องบ้างแล้ว แม้อาจจะช้าหน่อย แต่ก็มีหลายเพจ และกูรูหุ้นหลายท่านเริ่มพูดถึงปัญหาสภาพคล่อง
แม้แต่ทาง “เสี่ยยักษ์” เอง ยังออกมาเป็นปากเสียงแทนเจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้งทั้งหลายที่ได้รับผลกระทบ จนต้องถูกเลิกจ้าง ออกจากอุตสาหกรรม เพราะสภาวะตลาดไม่เอื้อ ทำรายได้ไม่ถึงขั้นต่ำ ผ่านเพจ “พ่อสอนลูกลงทุน”
ในทางตรงกันข้าม เราก็มักจะเห็นผู้ลงทุนบางกลุ่มร้องเรียนเรื่อง speed ของผู้เล่นบางกลุ่มที่เร็วกว่าคนอื่นบ้าง, ร้องเรียนเรื่องค่าคอมมิชชั่นว่าถูกไปบ้าง และดูเหมือนว่าจะไม่ชอบการมีค่าคอมฯ ที่เสรี อาจจะอยากให้ค่าคอมขั้นต่ำที่แพงขึ้นสำหรับทุกคน
เอาล่ะ ทั้งหลายทั้งปวง ตลาดหุ้นไทยที่ดำเนินการมาจะครบ 50 ปี ได้ผ่านวิกฤตต่างๆ นานา มาไม่น้อย และก็ได้ปรับตัวไปในหลายรูปแบบ ทั้งทางการที่อยู่ในฝั่งของการกำกับดูแล สำนักงาน ก.ล.ต. ฝั่งโปรโมท อย่าง ตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงบริษัทสมาชิก โบรกเกอร์ต่างๆ
โดยหน่วยงานหลัก ทั้ง 3 องค์กรเหล่านี้ ได้มีการลงทุนในเรื่องของโครงสร้างระบบ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงองค์ความรู้ และออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อน เป็นสากล และเท่าเทียมตลาดทุนแนวหน้าของโลกมาตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
แต่กลุ่มผู้ลงทุนเองเหมือนจะไม่ได้มีการเติบโต หรือมีพัฒนาการตามอายุไขของตลาดหุ้นสักเท่าไหร่
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ลงทุนรายย่อยเอง หรือแม้แต่กลุ่มผู้ลงทุนสถาบันเอง ที่ส่วนใหญ่ ในหลายๆ ตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนตลาดหุ้นของประเทศนั้นๆ
เรามักจะมีความคาดหวังว่าผู้กำกับดูแลต้องเป็นฝ่ายปกป้องผู้ลงทุนอยู่ตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริง หรือในหลักการแล้ว บทบาทหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. คือ หน่วยงานกำกับและพัฒนาตลาดทุน ส่งเสริมให้ตลาดหุ้นมีความเป็นธรรม เป็นระเบียบ และมีความโปร่งใส
แต่ที่ผ่านมา เรามักเห็นการกำกับดูแลเป็นไปในเชิง reactive มากกว่า proactive ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง Margin lending ที่สร้างความเสียหายให้ตลาดทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เรื่องของ Insider trading ที่มีการดำเนินการเอาผิดล่าช้า ไม่ทันท่วงที แถมยังมี Backlog ย้อนหลังอยู่หลายปี หรือแม้แต่คดีฉ้อโกง ตกแต่งบัญชีต่างๆ ที่กว่าจะเอาผิดได้ ก็ใช้เวลานาน จนบางบริษัทถูกเพิกถอนจากตลาดหุ้นไปแล้ว
อุปสรรคหนึ่งของผู้กำกับดูแล ดูเหมือนจะติดกับดักความพยายามที่จะ regulate ทุกเรื่อง ความพยายามที่จะออกกฎเกณฑ์มาป้องกันทุกปัญหา ทุกครั้งที่มีเสียงเรียกร้องจากผู้ลงทุนรายย่อย แม้จะขัดต่อหลักความเป็นสากลของตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วก็ตาม จนทำให้เกิดความสับสนของผู้ลงทุนต่างประเทศ
ท้ายที่สุดก็ได้เห็นการไหลออกของ Fund flow ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (66-67) เกือบ 3.47 แสนล้านบาท
เหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้เกิดการลดทอนของสภาพคล่องลง และนำไปสู่ตลาดที่ไร้ประสิทธิภาพ และเป็นการสร้างปัญหามาทับถมปัญหาเดิมอีก จากการออกเกณฑ์ micro manage
ตัวอย่างของผู้กำกับดูแลที่เข้าใจบทบาทของสภาพคล่องเป็นอย่างดี ก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย และตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ประเทศเกาหลีใต้ ที่ผ่านมาไม่นาน หลังจากประกาศกฎอัยการศึกเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ธนาคารกลางเกาหลีใต้ออกมาประกาศชัดว่าพร้อมจะสนับสนุนตลาดหุ้นด้วยการเติมสภาพคล่อง “อย่างไม่จำกัด” เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนและสถาบันการเงินต่างๆ
และไม่ได้ออกมาห้ามโน่นห้ามนี่ จนทำให้ตลาดจากที่อาจจะไม่มีอะไร กลายเป็น panic เพราะเป็นห่วงเรื่อง สภาพคล่อง และความสามารถในการบริหารความเสี่ยงของตนเอง
สิ่งที่อยากสื่อคือเรื่องสภาพคล่องที่เป็นเสมือนหลอดเลือดใหญ่ของตลาดทุน ผู้กำกับดูแลควรคำนึงถึงสภาพคล่องเป็นหลัก เพราะต้นตอของปัญหา หลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็มักจะมาจากสภาพคล่องที่ถดถอย มาตรการที่ดึงเม็ดเงินและสภาพคล่องออกจากตลาดมักไม่ส่งผลดีให้ตลาดในระยะยาว
นอกจากนี้ ยังจะส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการสภาพคล่อง (Liquidity provider) และผู้ใช้บริการสภาพคล่อง (Liquidity taker) นำไปสู่ตลาดที่ไม่สามารถเรียกราคา premium ได้ และกลายเป็น discounted market ไปโดยปริยาย
โดยสรุปการออกมาตรการกำกับดูแลใดๆ ก็ตามของ สำนักงาน ก.ล.ต. ล้วนแล้วมีเจตนาที่ดีทั้งสิ้น แต่การจะออกมาควบคุม การปล่อย margin loan อาจจะไม่ใช่ทางแก้ที่ถูกจังหวะสำหรับตอนนี้ เวลาที่ตลาดหุ้นไทยขาดสภาพคล่อง
การบีบให้มีการรายงาน และเปิดเผยข้อมูลของผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่เอาหุ้นไปจำนำนอกระบบ น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่น่าจะตรงจุดกว่า เพื่อผู้ลงทุนจะได้รับทราบ (การกู้ในระบบผ่าน บล. มีการรายงานผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ อันนั้นดีอยู่แล้ว)
และเพื่อไม่ให้กระทบกับสภาพคล่อง และความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่างชาติ เหมือนอย่างกรณีของ Uptick rule ที่เป็นหนึ่งในมาตรการที่ไม่สากลของตลาดหุ้นอื่นๆ ที่ถูกนำมาใช้ จนทำวอลุ่มหดหายไปจากตลาดหุ้นไทย
แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่วอลุ่มเทรดของตลาดหุ้นไทยวันละแสนล้านบาท เวลานั้นค่อยมาควบคุมการปล่อยมาร์จิ้น ก็ยังไม่สาย
ธิติ ภัทรยลรดี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ม.ค. 68)
Tags: SCOOP, ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นไทย, มองมุมต่าง, หุ้นไทย