มองมุมต่าง: ตรวจเช็ค “ใบหุ้นบริษัทจดทะเบียน” เก๊-แท้ ต้องที่ TSD เท่านั้น!

จากกรณีศึกษา “ใบหุ้นปลอม” ที่เกิดขึ้นจากการนำมาใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอกู้ยืมเงิน ถือเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้น ควรตระหนักรู้ และ ทำความเข้าใจด้วยตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

เนื่องจาก “ใบหุ้น” ถือเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่ง ที่สามารถเปลี่ยนมือ, ชำระ, จำนำ หรือวางเป็นหลักประกัน กับผู้ให้กู้ยืมได้

หากบุคคลใดก็ตามที่ได้รับ”ใบหุ้น” ต้องการตรวจสอบความถูกต้องว่า “ใบหุ้น” ที่ได้มาเป็น “ใบหุ้นจริง” ไม่ใช่ “ใบหุ้นปลอม” หรือมีหุ้นอยู่จริงตรงตามที่ใบหุ้นระบุ หรือไม่

สิ่งที่ควรทำอย่างแรกเลย คือ ไปที่ TSD Counter Service ชั้น 7 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บน ถ.รัชดาภิเษก ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. ยกเว้นวันหยุดตามประกาศของ ตลท.

เนื่องจากหน่วยงานที่จะตรวจสอบว่า “ใบหุ้น” ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็น “ใบหุ้นจริง” หรือ “ใบหุ้นปลอม” คือ TSD เท่านั้น

ผู้ลงทุน ควรจะต้องรับทราบไว้ด้วยว่า ไม่มีใครที่จะสามารถการันตีได้ว่า “ใบหุ้น” ใบนั้นที่ถืออยู่ในมือ จะอยู่ในสถานะใด และต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม้แต่เจ้าของที่มีรายชื่ออยู่ในใบหุ้นนั้นก็ตามที

วิจารณญาณในการเชื่อและตัดสินใจว่า “ใบหุ้นนั้นจริงหรือไม่?” เราไม่สามารถสรุปได้จาก ตัวบุคคล, คำพูด, การมีชื่อเสียงในสังคม, ความน่าเชื่อถือในอดีต, ความไว้วางใจ รวมถึงคำกล่าวอ้างต่างๆ ฯลฯ สิ่งที่จะสรุปได้ 100% คือ การตรวจสอบ ผ่าน TSD เท่านั้น

เนื่องจาก ปัจจุบัน เทคโนโลยีของการถ่ายเอกสาร หรือ printing สามารถเก็บรายละเอียดของการ copy ต้นฉบับได้เกือบ 100%

ฉะนั้น การนำใบหุ้น มาตรวจสอบกับ TSD ถือเป็นเรื่องที่ควรต้องทำอย่างยิ่ง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ให้ถูกหลอกด้วย “ใบหุ้นปลอม”

กรณีของการเกิด”ใบหุ้นปลอม”นี้ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และ TSD ก็ไม่ใช่หน่วยงานที่จะต้องออกมารับรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น กับ “ใบหุ้นปลอม” เนื่องจาก หาก “ใบหุ้น” เปรียบได้กับ “ธนบัตร” ที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

ยกตัวอย่าง ร้านค้าหนึ่งได้รับ “แบงก์ปลอม” จากลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้า โดยไม่ทราบว่าเป็น “แบงก์ปลอม” ร้านค้านั้นก็จะต้องรับความเสียหายเอง ในประวัติก็ไม่เคยมีใครเคยไปร้องเรียนกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ทำไมจึงปล่อยให้มี “แบงก์ปลอม” ระบาดออกมามากมายขนาดนี้

ฉันใดก็ฉันนั้น กรณีของ “ใบหุ้นปลอม” กับ TSD ก็เช่นกัน ไม่ต่างจาก “แบงก์ปลอม” ที่แบงก์ชาติไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบ

แต่ผู้ลงทุน หรือ ประชาชนทั่วไป สามารถตรวจสอบความถูกต้องของ “ใบหุ้นบริษัทจดทะเบียน” ได้จาก TSD

ส่วนในกรณีที่ทาง TSD ยังไม่พบการนำ “ใบหุ้นปลอม” ในเคสล่าสุดมาทำธุรกรรมนั้น ถือเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เนื่องจากหากมีบุคคลใด นำ “ใบหุ้นปลอม” มาสลักหลัง หรือเปลี่ยนชื่อ ก็อาจมีความผิดทางกฎหมายอาญาได้เช่นกัน เหมือนอย่างที่หากร้านค้านั้นทราบว่า “แบงก์” นั้นเป็นของปลอม ก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้นำมาใช้ได้ทันที

สำหรับคำถามที่ว่ามี “ใบหุ้นปลอม” อยู่ในระบบมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็อาจจะฟังแล้วแปลกๆ

เหมือนไปถาม “แบงก์ชาติ” ว่ามี “แบงก์ปลอม” อยู่ในระบบเท่าไหร่?” หน่วยรัฐฯ หากได้ยินคำถามนี้คงไม่มีคำตอบให้ เพราะไม่ใช่คนที่ พิมพ์แบงก์ปลอมขึ้นมา จึงไม่รู้จำนวน

ฉันใดก็ฉันนั้น “ใบหุ้นปลอม” ก็เช่นกัน !!!

ธิติ ภัทรยลรดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ธ.ค. 67)

Tags: , , , ,