มหาวิทยาลัย CMKL และ KMITL เผยความสำเร็จในการพัฒนาใช้ AI เพื่อคัดกรองไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์มิว (Mu) ด้วยการใช้ APEX Supercomputer ที่สามารถใช้ AI ตรวจหาเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้ ซึ่งจะช่วยสกัดการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19
รศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวถึงความสำเร็จครั้งใหม่ของนักวิจัยไทย AI ตรวจโควิด สายพันธุ์ มิว C.1.2 ว่า การมีซุปเปอร์คอมพิวเตอร์นั้น เป็นสิ่งที่ประเทศมหาอำนาจนั้นต่างก็แข่งขันกันพัฒนาขึ้นมา
นอกจากนี้ การที่มหาวิทยาลัยและเทคโนโลยีระดับโลกมาเปิดหลักสูตรที่ประเทศไทยนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่อยากให้มีการดึงสถาบันการศึกษาระดับโลก มาตั้งในประเทศไทย จึงได้มีการเจรจาเพื่อนำ Carnegie Mellon University ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยในด้าน AI ชั้นนำของโลก มาเปิดหลักสูตรที่ประเทศไทยได้สำเร็จ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวว่า ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกในด้าน AI จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพด้าน AI ที่เหมาะสมกับบริบทของไทยได้อย่างก้าวกระโดด ทั้งในด้านการพัฒนาความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงการพัฒนาสภาพเศรษฐกิจและสังคมรากหญ้าให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น เช่น ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยได้มีการนำ AI ไปช่วยในการเรียนรู้ภาษาไทยในท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการเข้าถึง e-commerce สำหรับชุมชน เรียกได้ว่าการมีเทคโนโลยี AI ในประเทศไทยนั้นจะเป็นประโยชน์กับทุกคนในประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน
มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สจล. กับมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยในด้าน AI ชั้นนำของโลก โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในวงการการศึกษาทั้งในไทย และต่างประเทศ อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย, ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, Dr. Alfred Gusenbauer, Dr. Allan Goodman, Prof. David Kennedy และ Prof. José Moura ในคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยอีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ต.ค. 64)
Tags: AI, CMKL University, KMITL, ตรวจโควิด-19, มหาวิทยาลัย, สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น, โควิดสายพันธุ์มิว