หอการค้าไทย ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็น เรื่อง “มุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” เพื่อสะท้อนมุมมองข้อเสนอจากภาคธุรกิจต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยตัวแทนของทุกภาคส่วน ได้นำเสนอข้อคิดเห็นและแนวทางการพัฒนาประเทศ ใน 10 ประเด็นสำคัญให้กับพรรคการเมือง ซึ่งจะเป็นว่าที่รัฐบาลในอนาคตได้รับทราบ เพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการต่อตามความเหมาะสม โดยมี 10 แนวทางที่สรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 Digital Transformation และการศึกษาไทย โดยต้องมีการปฏิรูปการศึกษา ด้วยการนำเทคโนโลยี Digital มาใช้ เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงความรู้และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย สร้างการเติบโตให้กับประเทศ รับมือกับ Digital Transformation พัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัล
ประเด็นที่ 2 การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ควรต้องมีการ 1) ยกระดับผู้ประกอบการไทยให้มีรายได้ที่สูงขึ้น เพื่อสามารถแข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้านและสากล 2) ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม High Technology และนวัตกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูง ไม่มีมลภาวะ 3) ส่งเสริมสิทธิประโยชน์สูงสุดให้ผู้ประกอบการไทยได้ทัดเทียมกับสากล 4) ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Hub ที่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคระดับสูง และความสะดวกในการออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจทุกประเภท
ประเด็นที่ 3 การค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาแรงงานของไทย โดยประเทศไทยควรเร่งรัดการเจรจา FTA ให้มากขึ้นและต้องมีการปลดล็อคปัญหาต่าง ๆ อีกทั้งพร้อมและเปิด FTA ได้กับทุกประเทศโดยไม่เข้าข้างฝ่ายใด รวมทั้งประเทศไทยต้องเปรียบเทียบ FTA กับประเทศคู่แข่ง เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างและจุดเด่นของประเทศไทย
ส่วนการพัฒนาแรงงานไทยนั้น ประเทศไทยกำลังพบกับความท้าทายในการขาดแคลนแรงงาน และผลิตภาพแรงงานในอนาคต โดยเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น มองว่าจะต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ส่วนการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ควรกำหนดทิศทางของประเทศไทยในการเติบโตของภาคธุรกิจเพื่อผลิตกำลังคน ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมกันจัดทำข้อมูลฐานแรงงานของประเทศไทย (Big Data)
ส่วนการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ควรจัดทำยุทธศาสตร์และแผนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวระยะยาว พร้อมทั้งจัดระเบียบการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวระบบใหม่ ผ่านศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน ขณะที่การเพิ่มผลิตภาพแรงงานนั้น ควรเพิ่มศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมทั้งขยายมาตรฐานฝีมือแรงงาน และอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ
ประเด็นที่ 4 การส่งเสริมภาคธุรกิจเกษตร อาหาร และ BCG & ESG โดยมีข้อเสนอสนับสนุนเกษตรกรปรับเปลี่ยนการทำเกษตรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สิ่งแวดล้อม สอดคล้องความต้องการตลาด ส่งเสริมการทำเกษตรแบบรวมผลิตรวมจำหน่าย
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยส่งเสริมยกระดับการพัฒนาการประกอบธุรกิจ โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า พัฒนากระบวนการผลิต และการจัดการของเหลือทิ้ง (Waste to Value) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว ผ่านส่งเสริมการพัฒนาตามแนวทาง ESG ให้มีแผนงานและมาตรการที่ชัดเจน โดยเฉพาะมาตรการในการอนุรักษ์หรือเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยสร้าง
ประเด็นที่ 5 การส่งเสริมภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ประเทศไทยต้องจัดทำนโยบายเชิงรุกที่ชัดเจน และลงรายละเอียด โดยต่อยอดจากความสำเร็จ โดยมีแผนงาน 3 หัวข้อหลัก คือ 1. Refresh Branding ให้มีจุดยืนที่แตกต่างและชัดเจนขึ้น สร้างเรื่องราวและประสบการณ์ใหม่สื่อสารไปถึงทั่วโลก 2. กลยุทธ์สร้างความสำเร็จ เพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยวอย่างทวีคูณสู่ความยั่งยืน 3. การขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ (Sustainability) เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เป็นการท่องเที่ยวมูลค่าสูง
ประเด็นที่ 6 การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ได้แก่ Ease of Doing Business และ Ease of Investment ซึ่งประเทศไทยต้องพัฒนาในจุดนี้ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้มากขึ้น โดยมีประเด็นเร่งด่วนที่อยากให้พิจารณา ทบทวนปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของโลก
ประเด็นที่ 7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เป็นเรื่องที่สำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยขอยก 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การบริหารจัดการน้ำ 2.ระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ 3. ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้าน Digital และ Internet
ประเด็นที่ 8 โอกาสของไทยด้านการค้าชายแดนและค้าผ่านแดน โดยเสนอให้มีโครงการเร่งด่วน 4 เรื่อง คือ 1) เปิดจุดการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทย กับประเทศเพื่อนบ้านให้ครบทั้ง 97 จุด 2) แก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้าผ่านแดนไปยังประเทศจีน ที่ยังติดขัดอยู่หลายประการ 3) แก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงด่านชายแดนที่ยังไม่มีประสิทธิภาพรองรับการขนส่งสินค้า และ 4) ส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) ในการทำการค้าชายแดน และลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สกุลเงินท้องถิ่นด้วย
ประเด็นที่ 9 การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ด้วยการการสร้างโอกาสให้คนตัวเล็ก การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโต การเติมเต็มสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ยั่งยืน การกระจายโอกาสไปทั่วประเทศไม่ให้กระจุกตัวอยู่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ เป็นเรื่องสำคัญ การสร้างและส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการใหม่ในการบริหารประเทศแบบเชิงรุก โดยหน่วยงานภาครัฐออกแบบระบบหรือกระบวนการมีส่วนร่วมในระดับกระทรวง หรือคณะกรรมาธิการหรืออนุกรรมการคนรุ่นใหม่ จะสามารถช่วยให้มีไอเดียใหม่ๆ มาขับเคลื่อนประเทศได้
ประเด็นที่ 10 ข้อเสนอจากตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งจากมุมมองของนักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีมุมมองนำเสนอ 3 ด้าน คือ
- ด้าน Education โดยปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้จากทุกพื้นที่
- ด้าน Equality สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาระหว่างในเมืองและในชนบท ออกแบบการศึกษาให้ตรงกับตลาดแรงงาน
- ด้าน Environmental โดยการปรับปรุงคุณภาพอากาศผ่านนโยบาย Carbon emission ที่ให้ความสำคัญกับความตระหนักรู้และเข้าถึงในการใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลจากเวทีการเสวนาหอการค้าไทยได้ สรุปประเด็นและข้อเสนอของภาคธุรกิจ เพื่อให้พรรคการเมืองนำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบาย ประกอบด้วย
1.การสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคม (Connect) ภาคเอกชนอยากเห็นรัฐบาลชุดใหม่ที่มีเสถียรภาพ เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคม ลดความขัดแย้ง สานต่อนโยบายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยเฉพาะกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างใกล้ชิด การสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และการเพิ่มบทบาททางการต่างประเทศกับนานาชาติให้มากขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงบทบาทของภาครัฐจากผู้กำกับดูแล (Regulator) สู่การเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและภาคธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Competitive) ภาคธุรกิจอยากให้มีการสานต่อเรื่อง Ease of Doing Business และ Ease of Investment อย่างเป็นรูปธรรม เพราะถือเป็นประตูด่านแรกในการสร้างการดึงดูดการลงจากทั้งในและต่างประเทศ โดยนำ Digital Transformation มาใช้เพื่อให้บริการภาครัฐมีความรวดเร็ว สะดวก และมีความโปร่งใส
ขณะเดียวกันต้องเร่งผลักดัน FTA หรือข้อตกลงทางการค้าใหม่ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย, ยกระดับภาคการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรและแรงงานทักษะสูง ที่ตอบสนองความต้องการของตลาด, การจัดทำโยบายภาคการเกษตรที่ยึดตลาดนำการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และการส่งเสริมการแปรรูป รวมถึงการเร่งฟื้นฟู SMEs ทั่วประเทศ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป
3.ส่งต่อแนวทางความยั่งยืนสู่คนรุ่นใหม่ในอนาคต (Sustainable) ประเด็นความยั่งยืนคงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับประเทศไทย แต่จะเป็นทางรอดในการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ภาคธุรกิจจึงอยากให้พรรคการเมืองมีแนวทางที่ชัดเจน ที่จะนำประเทศไทยปรับตัวเข้าสู่แนวคิดความยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งแนวทาง BCG, SDGs และ ESG ให้เกิดการรับรู้และปรับใช้ในทุกระดับของสังคม โดยภาคธุรกิจพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการเริ่มต้นและสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
นายสนั่น กล่าวว่า ผลสรุปดังกล่าวจะเป็นแนวทางกำหนดนโยบาย ที่ภาคธุรกิจอยากเห็นทุกพรรคการเมืองได้นำข้อเสนอไปปรับใช้กับนโยบายขับเคลื่อนประเทศ เพื่อสร้างสรรค์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลชุดใหม่ โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างสูงสุด
“การแลกเปลี่ยน และถกแถลงแนวนโยบายของทุกพรรคการเมืองในวันนี้ ภาคธุรกิจเชื่อมั่นว่า เป็นเจตนารมย์ที่ดีที่ทุกพรรคการเมืองอยากนำเสนอแนวทางให้ประชาชนได้ตัดสินใจ และกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีกว่า” นายสนั่น กล่าว
พร้อมกันนี้ นายสนั่นได้มอบ “สมุดปกขาว” ที่เป็นข้อเสนอของภาคธรุกิจให้กับตัวแทนของทุกพรรคการเมือง เพื่อเป็นข้อคิด แนวทางที่จะนำไปสู่การพิจารณากำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจในด้านเศรษฐกิจ เพื่อเดินหน้าประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 66)
Tags: ภาคเอกชน, สนั่น อังอุบลกุล, หอการค้าไทย, เศรษฐกิจไทย