ภาคเอกชนร่วมผลักดันลดการปล่อยก๊าซฯ มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality-Net Zero

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยในการเสวนา “การขับเคลื่อนธุรกิจสู่ยุค Net Zero” ภายใต้งานสัมมนานโยบายเพื่อสับสนุนการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ ว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 (2593)ครอบคลุมทั้งตัวบริษัทและบริการต่างๆ ที่ใช้

โดยตั้งเป้าหมายลดก๊าซฯ ภายในปี 2030 (2573) ลง 20% ผ่านการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง, การทำโปรดักส์ที่มีการปล่อยก๊าซฯ ต่ำ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการลงทุน โดยมีการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing)

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก (BCP) กล่าวว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ถือเป็นเป้าหมายเดียวกันของทุกองค์กรที่จะไปให้ถึง ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลา แต่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality น่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ก่อน โดยเป้าหมายของบริษัทฯ คือ เมื่อมีการปล่อยก๊าซฯ ออกมาเท่าไหร่ ก็จะพยายามชดเชยในการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอน

ปัจจุบันกลุ่มบางจาก มีอยู่ 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจดั่งเดิม และน้ำมัน, กลุ่มธุรกิจรักษ์โลก อย่างบมจ.บีซีพีจี (BCPG) ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้ารีนิวเอเบิ้ล 100% รวมถึงอยู่ระหว่างขยายไปสู่ Plant-based, ไบโอเบสโปรดักส์ แต่อย่างไรก็ตามการลงทุนดังกล่าวก็คงจะมีสัดส่วนที่ไม่เท่ากับธุรกิจเดิม เนื่องจากขนาดที่เล็กกว่า และตลาดยังค่อนข้างใหม่คนยังไม่รู้จัก จึงเป็นที่มาที่บริษัทฯ ได้ชวนองค์กรอื่นๆ มาก่อตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club แหล่งซื้อขายคาร์บอน เนื่องจากมองว่าจะเป็นกลไกหลัก ที่จะเป็น Asset Arocation และยังช่วยให้เอกชนกับเอกชน reallocate resources เพื่อผลักดันให้ธุรกิจที่ไม่มีการปล่อยก๊าซฯ เกิดขึ้นได้ง่ายและเร็วขึ้น

นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า กลุ่มปตท. ได้ดำเนินการในเรื่องของ Net Zero อย่างจริงจัง โดยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานของกระทรวงพลังงาน รวมถึงสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งในเรื่องของ Carbon Neutrality หรือ Net Zero ซึ่งก็อยู่ระหว่างพิจารณาและวางแผนว่าจะทำได้เร็วกว่า ดีกว่า ทางประเทศไทยประกาศหรือไม่

ปตท. มีการดำเนินธุรกิจมากกว่า 40 ปี ล่าสุด บริษัทฯ ได้เปลี่ยนวิสัยทัศน์การดำเนินงานใหม่เป็น “Powering Life with Future energy and beyond หรือ ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งชีวิต” ขณะที่ก็ยังดำเนินพันธกิจหลัก คือ การสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ

นายอดิศวร์ หลายชูไทย เลขานุการบริษัทและรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ในฐานะธนาคารพาณิชย์ ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมาก หมายความว่าธนาคารฯ มีส่วนร่วมอย่างมากในการทำให้สิ่งใดเกิดหรือไม่เกิด โดยการให้เงินทุนไปทำธุรกิจ ทำให้ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ก็มีการตื่นตัวมากขึ้น แม้การปล่อยก๊าซฯ ของภาคธนาคารจะไม่เท่ากับภาคพลังงาน

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับ Environmental มากขึ้น ซึ่งได้มีการประกาศเจตนารมณ์ออกมาในช่วงปลายเดือนต.ค. เพื่อแสดงให้เห็นว่าธนาคารฯ เป็นส่วนหนึ่งของระบบ โดยจะมุ่งเน้นไปใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. ตัวเราเอง โดยตั้งเป้าหมายเป็น Net Zero ภายในปี 2030 (2573) ผ่านการใช้ยานพาหนะ ที่เน้น EV มากขึ้น 2.วางแผนระยะยาวใช้พลังงานสะอาด 3. การปล่อยสินเชื่อไปในทุกกลุ่ม เพื่อให้ธุรกิจได้ไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อ ซึ่งในเบื้องต้นธนาคารฯ มีความตั้งใจที่จะใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน หรือ Decarbonization และไปในเซกเตอร์ที่มีนัยสำคัญ โดยสอดคล้องกับความตกลงปารีสด้วย และ 4. มุ่งเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีความเขียวมากขึ้นกว่าเดิม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,