นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Bangkok FinTech Fair 2021 ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ กับโลกการเงินไทยแห่งอนาคต หัวข้อ “Connecting All Innovative Finance to Transform Businesses: เชื่อมโยงนวัตกรรม ปรับโฉมธุรกิจใหม่” ว่า ธปท.พัฒนาบริการทางด้านการเงินที่สามารถตอบโจทย์ภาคประชาชนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีการชำระเงินแบบ Digital Payment ผ่านพร้อมเพย์ หรือการสแกน QR Code ต่างๆ ลดการสัมผัสเงินสด และลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
แต่ปัจจุบัน การชำระเงินแบบ Digital Payment ในประชากรไทยมีอัตราเฉลี่ยที่ 260 ครั้ง/คน/ปี แต่ยังไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึงมากนัก เพราะยังคงมีกลุ่มคนที่ใช้เงินสดเป็นหลักอยู่เป็นจำนวนมาก และทางด้านภาคธุรกิจก็ยังมีบางปัจจัยที่ทำให้ปรับตัวยากกว่าภาคประชาชน เช่น เรื่องเอกสารภาษี เอกสารทางการ เป็นต้น
ดังนั้น ธปท.จึงอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินแบบใหม่ คือ Smart Financial and Payment Infrastructure เป็นระบบการชำระเงินที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถทรานส์ฟอร์มไปสู่ระบบดิจิทัลได้ โดยเชื่อมความสะดวกหลายด้านเข้าด้วยกัน ทั้งการเก็บเงินสินค้าแบบออนไลน์โดยไม่ต้องรอวางบิลกระดาษ หรือการชำระเงินออนไลน์ต่างธนาคารที่ไม่เสียค่าธรรมเนียม และสามารถจับคู่ข้อมูลใบรายการสินค้ากับการชำระเงินได้อย่างแม่นยำ
รวมไปถึงจะมีระบบการส่งข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีให้กับกรมสรรพากรอีกด้วย นอกจากนี้ระบบดังกล่าวจะเก็บข้อมูลการชำระเงินต่าง ๆ เอาไว้ ทำให้ธนาคารสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์และช่วยให้ธุรกิจ SME สามารถเข้าถึงการให้บริการสินเชื่อได้มากขึ้น คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปี 65
นายณพงศ์ธวัช กล่าวว่า ธปท.พยายามสร้างเครื่องมือให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล โดยต้องการให้ก้าวไปพร้อมกันทั้งระบบ Eco System ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจขนาดเล็ก-กลางที่สามารถนำระบบ Digital Payment มาต่อยอดธุรกิจให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เช่น การผลักดันยอดขายออนไลน์ในช่วงโควิด-19 หรือการรองรับลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้มากขึ้น ด้านธุรกิจขนาดใหญ่ที่มั่นคงก็มาช่วยพัฒนาในธุรกิจ ทำให้ได้รับผลประโยชน์ด้วยกันทั้งหมด
“ระบบ Eco System เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะต้องพัฒนาไปพร้อมกัน ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวมไปถึงภาคประชาชน และยังต้องก้าวไปให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ทาง ธปท.จึงพยายามสร้างเครื่องมือให้ทุกภาคส่วนสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลได้ และในอนาคต น่าจะเห็นระบบต่างๆ ออกมามากกว่านี้ คิดว่าสุดท้ายแล้วก็จะอยู่ที่การร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาคการเงิน ภาคธุรกิจ และอาจต้องมีแรงจูงในและแรงหนุนจากภาครัฐด้วย ถ้าเราทำได้ทุกภาคส่วนก็จะเติบโตไปด้วยกัน”
นายณพงศ์ธวัช กล่าว
ด้านนายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ. สหพัฒนพิบูล (SPC) กล่าวว่า บริษัทได้พยายามเข้าสู่ Digital Transformation มานานแล้ว เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ต้องมีสินค้าที่เหมาะสมกับช่องทางจำหน่ายใหม่ ทางบริษัทจึงต้องมีระบบฐานข้อมูล รวมถึงอุปกรณ์ที่สามารถประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
และยังมองว่าการเข้าสู่ Digital Transformation เป็นสิ่งที่จำเป็น โดยทั้ง Supply Chain จะต้องทรานส์ฟอร์มทั้งหมด แม้ว่าร้านค้าหรือธุรกิจขนาดเล็กอาจจะยังไม่พร้อมปรับตัวมากนัก แต่เชื่อว่าความช่วยเหลือจาก ธปท.ที่จะทยอยพัฒนาระบบต่าง ๆ ออกมาเรื่อย ๆ จะสามารถช่วยให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกันทั้ง Supply Chain
นายเวทิต กล่าวอีกว่า e-Business จะทำให้ทุกภาคส่วนใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น โดยบริษัทต้องการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กให้มีความพร้อมในการเชื่อมต่อกับลูกค้า ด้าน Supplier เองก็มีหน้าที่ช่วยทำให้ระบบใช้งานง่ายขึ้นเช่นกัน โดยมองว่า e-Business ทำให้ธุรกิจเดิมยังคงอยู่ แต่จะอยู่แบบถูกใจผู้บริโภคมากขึ้น เพราะมีข้อมูลมากขึ้น สามารถทำทุกอย่างได้รวดเร็วและสะดวกมากขึ้นด้วย
นายวิทูร สุริยวนากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) กล่าวว่า บริษัทใช้ระบบดิจิทัลมาช่วยในการดำเนินธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น จนมาถึงจุดที่พัฒนาระบบและโปรแกรมเฉพาะตัวของบริษัทเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และปัจจุบันได้นำระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ ขึ้นบนระบบ Cloud ด้วย นับว่ามีการพัฒนาด้านดิจิทัลมาโดยตลอด และในช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 เหมือนมาเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาด้านดิจิทัลมากขึ้นในหลายภาคส่วน ซึ่งทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้น เช่น การชำระเงินแบบ Digital Payment หรือ การออกใบกำกับภาษี และการขอ Statement ผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น
นายสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ในปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่ถูกระบบดิจิทัลทดแทน ตัวอย่างเช่น ธุรกิจสิ่งพิมพ์ หรือธุรกิจที่ถูกระบบดิจิทัลทำให้เปลี่ยนแปลงไป เช่น ธุรกิจด้านโทรคมนาคม ที่แต่ก่อนมีรายได้จากค่าโทรศัพท์ แต่ปัจจุบันมีช่องทางอื่นๆ ที่เข้ามาสร้างรายได้เพิ่มเติม อย่างเช่น Line, Whatsapp เกิดขึ้น หรือธุรกิจธนาคารที่ไม่ได้มีบทบาทเป็นคนกลางในการทำธุรกิจแล้วอีกต่อไป เนื่องจากลูกค้าสามารถทำธุรกรรมกันได้โดยตรง จะเห็นได้ว่าระบบดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในธุรกิจไม่มากก็น้อย จึงมองว่าควรนำการเปลี่ยนแปลงแบบ Digital Transformation มาตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้ตรงจุดมากที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 64)
Tags: FinTech, SPC, การเงินดิจิทัล, ณพงศ์ธวัช โพธิกิจ, ธปท., ฟินเทค, วิทูร สุริยวนากุล, สหพัฒนพิบูล, สีหนาท ล่ำซำ, เวทิต โชควัฒนา, เศรษฐกิจดิจิทัล