ภาคขนส่ง ท้วงรัฐบาลดัน “แลนด์บริดจ์” อาจไม่คุ้มค่าลงทุน

ภาคเอกชนท้วงติงให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ กรณีเดินหน้าผลักดันโครงการ “แลนด์บริดจ์” ที่ใช้เงินลงทุนมหาศาลถึง 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากไม่ใช่โครงการหลักในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เซาท์เทิร์นซีบอร์ด) จึงอาจเป็นการลงทุนไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่า

“ยังมีความสับสนว่าเราอยากได้อะไร เซาท์เทิร์นซีบอร์ดควรเกิดขึ้นก่อนแล้วเสริมด้วยแลนด์บริดจ์ เพราะจะสร้างระบบโลจิสติกส์ก็ต้องรู้ก่อนว่าจะขนส่งอะไร” นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าว

รูปแบบการลงทุนที่เคยประกาศไว้ว่าจะมีก่อสร้างถนนเชื่อมชายฝั่งอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน การก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน แต่ยังไม่มีความชัดเจน แต่ก่อนตัดสินใจลงทุนโครงการขนาดใหญ่ควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ก่อน เพราะในอนาคตยังไม่รู้ว่าระบบโลจิสติกส์หลักจะใช้ทางน้ำ ทางบก หรือระบบราง อีกทั้งทั่วโลกกำลังตื่นตัวเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนใช้พลังงานจากฟอสซิลไปเป็นพลังงานชีวมวล

“ในอนาคตการขนส่งแบบไหนจะเป็นที่นิยม โลกยังจะใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงกันอีกหรือเปล่า” นายชัยชาญ กล่าว

ก่อนหน้านี้ สรท. ร่วมกับวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม เคยจัดเสวนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวแล้ว เห็นว่าไม่ตอบโจทย์เรื่องระบบขนส่งสินค้าหรือโลจิสติกส์ เพราะอาจไม่คุ้มกับการลงทุนจริง

เมื่อปลายปีก่อน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ไปโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ให้กับนักลงทุนชาวญี่ปุ่น โดยระบุว่า โครงการดังกล่าว จะใช้ทดแทนการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาที่มีปริมาณการเดินเรือที่คับคั่งและแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เนื่องจากมีปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าประมาณ 70.4 ล้านตู้ต่อปี และจำนวนเรือที่เดินทางผ่านประมาณ 90,000 ลำต่อปี คาดการณ์ว่าในปี 2573 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และประสบปัญหาตู้สินค้าจำเป็นต้องรอที่ท่าเรือเพื่อให้เรือเข้ามาทำการขนถ่ายตู้สินค้า

โครงการแลนด์บริดจ์ มีทำเลที่ตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญใจกลางคาบสมุทรอินโดจีนที่เชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียที่มีความได้เปรียบของเส้นทางเดินเรือที่ประหยัดต้นทุนได้กว่า 4% เร็วกว่า 5 วัน และปลอดภัยกว่า กรณีขนส่งตู้สินค้าจากประเทศผู้ผลิตในกลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไปยังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง

ขณะที่สินค้าที่ผลิตจากประเทศผู้ผลิตในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีนด้านตะวันออก ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มายังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง จะประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และเร็วกว่า 3 วัน

ส่วนสินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และประเทศจีนตอนใต้ ไปยังประเทศผู้บริโภคต่างๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศในเอเชียกลาง และประเทศในตะวันออกกลาง จะช่วยประหยัดต้นทุนได้มากถึง 35% และเร็วกว่า 14 วัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 67)

Tags: , , , , ,