นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “กลยุทธ์ตลาดหุ้นไทย ฝ่าสถานการณ์โลก” ว่า การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เชื่อว่าปีหน้าจะเห็นการฟื้นตัวอย่างขัดเจนขึ้น ซึ่งเท่าที่เห็นในขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มจะดีขึ้นแล้ว ทั้งจากปัจจัยเรื่องการส่งออก การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งน่าจะทำให้บริษัทจดทะเบียนของไทยมีความสามารถในการทำกำไรดีขึ้นตามมา
“เราเริ่มเห็นบริษัทจดทะเบียนเริ่มมีกำไร เพียงแต่ index อาจยังไม่สะท้อน แต่คาดการณ์ว่าปีหน้าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัว “นายภากร กล่าว
ส่วนปัจจัยสนับสนุนต่อมา คือ มาตรการจากภาครัฐ เช่น การปรับปรุงเงื่อนไขของกองทุน ThaiESG และการยกระดับมาตรการกำกับดูแลต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน ซึ่งมาตรการของภาครัฐที่ออกมาล่าสุดนั้น ยอมรับว่าจะส่งผลดีต่อตลาดทุนในระยะสั้น แต่ในระยะยาวนั้นต้องมาจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนเอง
นอกจากนี้ จากปัจจัยทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่กำลังเข้าสู่ขาลง รวมทั้งความแข็งแรงของเศรษฐกิจไทย จะมีส่วนช่วยทำให้บริษัทจดทะเบียนไทยสามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น ทั้งตลาดธนาคารพาณิชย์ ตลาดตราสารหนี้ และตลาดทุน ซึ่งจะเป็นตัวส่งเสริมให้ภาคธุรกิจฟื้นเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนทำให้ตลาดทุนไทยฟื้นตัวได้ในระยะต่อไป
ขณะที่ในสายตาของต่างประเทศนั้น ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะสามารถเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา และเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสจะเติบโตได้ดีขึ้นจากหลายส่วน ทั้งภาคการส่งออกสินค้า ภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนภาค real sector
ในขณะที่ภาคการเงินของไทยยังมีความแข็งแกร่ง ทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีสภาพคล่องเพียงพอในการปล่อยสินเชื่อ การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ที่มีสัดส่วนของ investment grade ถึง 93% ทำให้มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบการเงินของไทยสามารถรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น อัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แม้จะไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ก็ยังทยอยเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่เงินทุนของไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศก็มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนของไทยไม่ได้เติบโตได้แค่เพียงในประเทศอย่างเดียว
นายภากร ยังเห็นว่า ปัญหาการเมืองในประเทศไม่ได้มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนมากเท่ากับปัจจัยเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะตราบใดที่ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น ก็จะส่งผลให้ตลาดทุนไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
“ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ มีผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนมากกว่าเรื่องการเมือง ถ้าระบบเศรษฐกิจดีขึ้น น่าจะทำให้ตลาดทุนไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น” นายภากร กล่าว
- จุดแข็งและโอกาสในตลาดหุ้นไทยที่น่าสนใจ ได้แก่
นายภากร กล่าวว่า ปัจจุบันราคาหุ้นในแต่ละอุตสาหกรรมของไทย ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ดังนั้นจึงนับเป็นความน่าสนใจกับการที่จะเข้าไปลงทุนในช่วงที่ราคายังไม่สะท้อนกับผลกำไรในอนาคต
1.Hospitality and Tourism ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสันทนาการ, การท่องเที่ยว, อาหาร ซึ่งปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทย เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ well Being ในระดับโลก พร้อมรองรับการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว โดยประเทศไทยได้ขยายระยะเวลา free visa สำหรับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาคึกคัก และคาดว่าทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 35 ล้านคน ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด
2.Government Stimulus ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายภาครัฐ โดยปัจจุบันงบประมาณรายจ่ายปี 67 เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายภาครัฐกลับมาเร่งตัวในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ และเป็นโอกาสในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และสินค้าอุปโภค-บริโภค อาหารและเครื่องดื่ม
3.Relocation Opportunities ประเทศไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมเปิดรับโอกาสในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และจากที่ประเทศไทยมีความเป็นกลางท่ามกลางการแบ่งขั้วโลก 2 ฝ่าย จึงทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจที่บริษัทต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศในกลุ่มขัดแย้งเข้ามาลงทุนในไทยแทน เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ และธุรกิจด้านดิจิทัล
4.Global Play บริษัทจดทะเบียนได้ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ และมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2022 มี 335 บริษัทจดทะเบียนได้เปิดเผยรายได้จากต่างประเทศโดยรวมสูงถึง 5.81 ล้านล้านบาท
5.Sustainability บริษัทจดทะเบียนไทยเติบโตอย่างเข้มแข็ง และเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งธุรกิจที่มีโอกาส คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
6.Dividend Play ธุรกิจที่มีการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูง และจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ
7.Transition to New Economy บริษัทจดทะเบียนไทย ปรับตัวสอดรับกับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยราว 20% มีการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ new economy เช่น Digital and E-commerce, Medical for future, Biofuels and Biochemical, Next-Gen Automative, Technology and innovation, Avance Agri and food, Robotic และ Creative Tourism เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ทั้งปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์, อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยโลก, การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาคต่างๆ และการจัดการกับผลกระทบด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 67)
Tags: SET, ตลท., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ตลาดหุ้นไทย, ภากร ปีตธวัชชัย, เศรษฐกิจ