“ฟิทช์ เรทติ้งส์” คงอันดับเครดิตไทยที่ BBB+ พร้อมแนวโน้มมีเสถียรภาพ

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลไทย (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating-IDR) ไว้ที่ BBB+ และแนวโน้มมีเสถียรภาพ

ฟิทช์ระบุว่า อันดับเครดิตของประเทศไทยเป็นผลจากสมดุลระหว่างความแข็งแกร่งของภาคการเงินต่างประเทศที่ยั่งยืนและกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง กับลักษณะโครงสร้างที่อ่อนแอกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ได้อันดับเครดิตในระดับ BBB เช่น รายได้ต่อหัวและคะแนนด้านธรรมาภิบาลจากธนาคารโลกที่ต่ำกว่า

ฟิทช์คาดว่า ตัวชี้วัดหนี้ภาครัฐของประเทศไทยจะค่อย ๆ มีเสถียรภาพในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศเปรียบเทียบ หลังจากที่มีการถดถอยลงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยมีสมมติฐานว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามแผนปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุลภายหลังปีงบประมาณนี้ที่สิ้นสุดในเดือนก.ย. 2568 โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไปอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อแนวโน้มการคลังระยะกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยเผชิญกับอุปสรรคด้านโครงสร้างประชากรอยู่แล้ว

ฟิทช์ยังคาดการณ์ด้วยว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเร่งตัวขึ้นเป็น 3.1% ในปี 2568 จากประมาณการที่ 2.6% ในปี 2567 แนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจะได้รับแรงผลักดันจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนที่ดีขึ้น

ฟิทช์ระบุว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในปี 2568 จะกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่จนถึงระดับก่อนเกิดโรคระบาดโดยได้รับแรงหนุนจากนโยบายริเริ่มที่สนับสนุนการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2568 และการปรับการเบิกจ่ายงบประมาณด้านการลงทุนให้เป็นปกติหลังจากที่มีความล่าช้าอย่างมีนัยสำคัญในปีงบประมาณ 2567 จะส่งผลบวกสำหรับอุปสงค์ในประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น

นอกจากนี้ ฟิทช์ยังคาดว่า การเติบโตจากโครงการแจกเงินสดครั้งแรกจำนวน 1.45 แสนล้านบาท (0.8% ของ GDP) จากรัฐบาลให้กับกลุ่มเปราะบาง จะช่วยบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งล่าสุดในภาคเหนือของประเทศไทย ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวและการลงทุนของภาคเอกชนที่แข็งแกร่งกว่าสมมติฐานพื้นฐาน ซึ่งอาจมาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มากขึ้นและความผันผวนทางการเมืองที่ลดลง อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตได้

ส่วนความเสี่ยงด้านลบนั้นได้แก่ อุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอลง เช่น การชะลอตัวอย่างรวดเร็วของคู่ค้ารายใหญ่ของไทย ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางการค้าหลังการเลือกตั้งของสหรัฐฯ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ย. 67)

Tags: , ,